รมว.แรงงาน สั่งดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อน ซ้ำเติมคนหางานช่วงโควิด หลอกไปแคนาดา

รมว.แรงงาน สั่งดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อน ซ้ำเติมคนหางานช่วงโควิด หลอกไปแคนาดา

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจง กรณีปรากฏข่าวทางสื่อโทรทัศน์ช่อง 3 HD รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ กรณีคนงานไทยร้องทุกข์เนื่องจากถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ มอบหมายกรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริง พบ คนหางานถูกหลอกไปทำงานประเทศแคนาดา จำนวน 40 คน ค่าเสียหายกว่า 7 ล้านบาท เบื้องต้นประสานสอบปากคำพร้อมส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว

นายสุชาติ เปิดเผยว่า รู้สึกห่วงใยคนหางานไปทำงานต่างประเทศที่ถูกหลอกลวง ฉวยโอกาสหาประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งจากความไม่รู้ และความหวังที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อมีรายได้ส่งกลับมายกระดับฐานะครอบครัว เพราะมีอัตราค่าตอบแทนสูง ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้สั่งการกรมการจัดหางานให้เร่งรัดตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานที่นำรายได้เข้าประเทศไทย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการ เร่งตรวจสอบไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชัยภูมิ พบคนหางานไปทำงานต่างประเทศถูกหลอกลวงจำนวน 40 คน ค่าเสียหายทั้งสิ้น 7,570,880 บาท ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดชัยภูมิได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ สอบปากคำคนหางาน และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

“อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด และทำรายงานการสืบสวน ตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 การหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อน จำนวน 78 ราย มีคนหางานร้องทุกข์ กรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวง จำนวน 204 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 16,454,698 บาท และกรมการจัดหางานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ดำเนินคดีผู้โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งสิ้น จำนวน 234 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) โดยประเทศที่คนหางานตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

Advertisement

กรมการจัดหางานแนะนำให้คนหางานที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน นายจ้าง ประเทศที่จะไป และต้องเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 วิธี คือ 1.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง 2.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 3.การเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง ได้แก่ โครงการจ้างตรง :ไต้หวัน โครงการ IM : ประเทศญี่ปุ่น โครงการ EPS: เกาหลี โครงการ TIC 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ และ5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทจัดหางาน ได้ที่ www.doe.go.th และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 0 2245 6763 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image