กก.นโยบายแอลกอฮอล์ฯ คุมเข้มปีใหม่ ขับไม่ดื่ม ห้ามลดแลกแจกแถม ผุดด่าน อสม.ทั่วไทย

กก.นโยบายแอลกอฮอล์ฯ คุมเข้มปีใหม่ ขับไม่ดื่ม ห้ามโฆษณา ลดแลกแจกแถม ผุดด่าน อสม.ทั่วไทย

วันนี้ (14 ธันวาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 โดยเน้นรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เข้มงวดใน 3 มาตรการ คือ ห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายลักษณะการลด แลก แจก แถม ชิงโชค และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อหรือเครื่องหมายที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม โดยจะมีการตั้งด่านชุมชน ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประเมิน และคัดกรองคนเมาเบื้องต้น เพื่อสกัดกั้นผู้ดื่มในชุมชนไม่ให้ขับขี่พาหนะ หากเกิดอุบัติเหตุจะมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกราย หากเป็นเด็กและเยาวชนดื่มแล้วขับ จะเอาผิดถึงผู้ขายด้วย และนำไปสู่การคุมประพฤติและบำบัดรักษาตามที่ศาลสั่ง

“ทั้งนี้ ยืนยันว่าช่วงปีใหม่จัดงานรื่นเริงได้ แต่ต้องขออนุญาตและเสนอแผนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณา หากมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีใบอนุญาตขายจาก
กรมสรรพสามิต การจัดงานต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เสนอ ทั้งการคัดกรองวัดไข้ และคนเมาไม่ให้เข้าร่วมงาน การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และลงทะเบียนไทยชนะ หากพบว่าไม่ดำเนินการตามมาตรการจะสั่งระงับการจัดงาน ส่วนนักดื่มต้องระวังโรคโควิด-19 เนื่องจากความมึนเมาอาจทำให้หยิบแก้วปะปนกันหรือสัมผัสละอองฝอยจากการพูดคุยตะโกนใส่กัน” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ.2564 – 2570 โดยมีเป้าหมายป้องกันและควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบ 7 กลยุทธ์ คือ 1.ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง 2.ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม 3.คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา 4.ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ 5.ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี 6.สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าเสพติด ทำลายสุขภาพ ทำร้ายสังคม และ 7.พัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกระดับ และการบริหารจัดการที่ดี โดยแต่ละกลยุทธ์จะมีโครงการและกิจกรรมรับรอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาแอลกอฮอล์และขยายผลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image