แพทย์แนะคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เลี่ยงฝุ่นพิษ ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน

แพทย์แนะคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน เสี่ยงรับผลกระทบฝุ่นพิษ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่กระจายทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า ในช่วงนี้พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยค่า PM2.5 ในแต่ละจุด แต่ละเวลา มีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ คือ 1.ตำแหน่งที่อยู่อาศัยหรือตำแหน่งที่ทำกิจกรรม 2.ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส 3.ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำงานกลางแจ้ง จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับ PM2.5 มากกว่ากลุ่มคนที่ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือทำงานในอาคาร และ 4.ปัจจัยเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด ภูมิแพ้ หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป

“สำหรับประชาชนที่มีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ประกอบอาชีพกลางแจ้ง เช่น วินมอเตอร์ไซด์ ตำรวจจราจร ฯลฯ ต้องมีการสวมหน้ากาก N95 หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ สวมหน้ากากอนามัยที่เป็นชนิดป้องกัน PM 2.5 สามารถใช้ได้ เพราะถ้าใช้หน้ากาก N95 อาจจะอึดอัด ส่วนบุคคลทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องสวมทับ 2 ชั้น เพราะถ้าเราไม่ได้อยู่กลางแจ้งก็สามารถป้องกันได้ แม้ไม่ 100%

Advertisement

เมื่อถามว่ามีข้อกำหนดหรือไม่ว่า ช่วงมีฝุ่นมากควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลาเท่าไร นพ.โอภาส กล่าวว่า บอกไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลวิชาการ แต่ปกติก็ไม่ควรอยู่นาน และค่าฝุ่น PM2.5 ในแต่ละจุดแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนก็จะบอกว่า ภายใน 1 ชั่วโมง ก็ควรจะมีการดื่มน้ำ จิบน้ำ

“หากเทียบกับเรื่องการอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 หนามากๆ ก็ไม่ควรอยู่นาน ยิ่งคนทำงานกลางแจ้งต้องหาทางหลบฝุ่น หรือเข้าตัวอาคาร เพื่อป้องกันการรับฝุ่นมากเกินไป” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะมีสูงหรือไม่ในสภาพอากาศฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจน อย่างไรก็ตาม ฝุ่นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเซลล์ตรงเยื่อจมูกอ่อนแอลง ก็ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ปัจจัยทางสังคม เมื่อมีฝุ่นมากคนก็จะไม่ออกจากบ้าน หรือลดการทำกิจกรรมลง ก็ทำให้ความเสี่ยงลดลงด้วย ยกเว้นว่า หากรับเชื้อโควิดและรับฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าไปในปอดจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า ช่วงนี้หากไม่จำเป็นก็ขอให้อย่าออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคทางเดินหายใจ หากต้องออกไปข้างนอกขอให้สวมหน้ากากป้องกัน ส่วนที่ว่าจะต้องทำงานที่บ้าน (Work from home) เพื่อหลบฝุ่นช่วงนี้หรือไม่นั้น อาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากทำได้ก็จะช่วยลดปริมาณไอเสียจากรถยนต์ แต่บางอาชีพอาจไม่ได้ อย่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่เพื่อประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสฝุ่นละอองอย่างเหมาะสม โดยสามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ที่แอพพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และขอให้ประชาชนลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ลดการใช้รถยนต์และรถที่มีควันดำ ลดการเผาขยะ หรือเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้าน ให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรม นอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณหรือเส้นทางที่มีฝุ่นหนาแน่น หากจำเป็นควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image