กทม. กำชับ 50 เขตให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในช่วงเทศกาล

กทม. กำชับ 50 เขตให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในช่วงเทศกาล

(15 ธ.ค. 63) เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 99/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้าง ประกอบกับขณะนี้เข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งจะมีประชาชนรวมกลุ่มจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมาก อาจเกิดการแออัด และก่อให้เกิดการติดต่อและแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ง่าย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) จึงกำหนดแนวทางในการอนุญาตจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในสถานที่ที่มิใช่สถานบริการ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการในสถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงฯ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับหรือควบคุมการอนุญาตจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงฯ เป็นการเฉพาะ แต่ผู้จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงฯ มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขตามการผ่อนคลายการบังคับใช้ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระยะที่ 4 สำหรับการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต นาฏศิลป์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเขต ให้คำแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากหรือแออัด เช่น กิจกรรมเคานต์ดาวน์ กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมตามประเพณี การจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในสถานที่ที่มิใช่สถานบริการ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ฯลฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้จัดกิจกรรมลงชื่อรับทราบ “ข้อปฏิบัติในการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในสถานที่ที่มิใช่สถานบริการ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการในสถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดง และข้อมูลการติดต่อกับผู้จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับตรวจสอบการดำเนินการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงตามอำนาจหน้าที่ พร้อมสำเนาเอกสารข้อปฏิบัติดังกล่าวให้ผู้จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงไว้เพื่อเป็นแนวทางในการจัดงานต่อไป

สำหรับแนวทางปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงในสถานที่ที่มิใช่สถานบริการ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการในสถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบด้วยรายละเอียด 3 ด้าน ดังนี้ 1.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ เช่น มีระบบคัดกรองอาการและตรวจวัดอุณหภูมิแก่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ มีมาตรการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม มีการทำความสะอาดก่อนกิจกรรม ระหว่างกิจกรรม และภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม เป็นต้น 2.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้จัดงาน เช่น มีระบบคัดกรองอาการและตรวจวัดอุณหภูมิแก่ผู้ให้บริการ ผู้แสดง ผู้ร่วมงาน นักข่าว โดยประสานกับสถานที่จัดงาน มีจุดลงทะเบียน มีอุปกรณ์ป้องกันตนเอง อาทิ ถุงมือ Face Shield มีการรักษาระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ มีการจำกัดจำนวนผู้ร่วมงานให้มีความเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อคน งดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด อาทิ การจับมือ การถ่ายรูปหมู่ เป็นต้น และ 3.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เข้าร่วมงาน เช่น ให้สังเกตอาการตนเองสม่ำเสมอ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการตะโกน ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ประธานในที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราเพื่อป้องปรามให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค สามารถให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนและส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image