ศบค.คาด 7 จว.พบโควิด-19 เข้าสู่ระยะปลอดภัย 20 ธ.ค.นี้

ศบค.คาด 7 จว.พบโควิด-19 เข้าสู่ระยะปลอดภัย 20 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 15 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด แยกเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย ฮ่องกง 1 ราย ฮังการี 1 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย อินเดีย 2 ราย บาห์เรน 1 ราย อเมริกา 1 ราย เมียนมา 3 ราย และบราซิล 1 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีเพียง 1 ราย ที่มีอาการเจ็บคอ ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 4,261 ราย หายแล้ว 3,977 ราย เสียชีวิต 60 ราย ยังรักษาตัว 224 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ความคืบหน้าการสอบสวนควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน – วันที่ 16 ธันวามคม เวลา 08.00 น. พบผู้ติดเชื้อจำนวน 67 ราย ในจำนวนนี้เป็นการพบเชื้อหลังเข้าอยู่ในสถานที่กักกันในพื้นที่ (Local State Quarantine: LQ) 48 ราย มีเพียง 2 ราย ที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 17 ราย เป็นผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติและเดินทางไปใน 7 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดนั้นจะครบระยะเฝ้าระวัง 14 วัน คือ จ.เชียงราย วันที่ 19 ธันวาคม เพราะรายที่พบต่อมาเป็นการพบในสถานที่กักกันทั้งสิ้น จ.เชียงใหม่ วันที่ 16 ธันวาคม จ.พะเยา วันที่ 15 ธันวาคม ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 20 ธันวาคม จ.พิจิตร วันที่ 15 ธันวาคม จ.ราชุบรี วันที่ 16 ธันวาคม และ จ.สิงห์บุรี วันที่ 18 ธันวาคม

“ส่วนกรณีที่พบบุคลากรทางการแพทย์ 7 ราย ติดโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) และการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันนั้น กรมควบคุมโรคได้แสดงความเป็นห่วง เพราะจากการไปดูพื้นที่ปรากฏว่าในสถานกักกันโรคทางเลือกแห่งนั้น มีเชื้อติดอยู่บนลูกบิดประตู ซึ่งเป็นจุดที่มีการสัมผัสกันมาก กลายเป็นความเสี่ยง จึงกำชับว่าในการทำความสะอาดอย่าลืมลูกบิดประตู หรือจุดเสี่ยงที่เป็นจุดสัมผัสร่วมต่างๆ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ศปคม.) กล่าวว่า ยังไม่มีการรายงานติดเชื้อในประเทศเพิ่มเติมและกลุ่มก้อนการระบาดในประเทศไทย สำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และ 7 จังหวัดของประเทศไทย ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเดินทางไปนั้น ขอให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัย สามารถไปเที่ยวได้ เพียงแต่คงมาตรการในการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และลงทะเบียนแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ”

นพ.วิชาญกล่าวถึงความก้าวหน้าการสอบสวนโรค เหตุการณ์สำคัญ 2 กรณี ว่า ผู้ที่เดินทางมาจาก 7 จังหวัดดังกล่าว ทุกคนไม่ได้มีความเสี่ยงกว่าคนอื่น จึงไม่จำเห็นต้องกักตัว สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีการสั่งกักตัวนักเรียน ครู และพนักงานที่เดินทางกลับจาก จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นมาตรการเกินความจำเป็น ซึ่งการที่กักตัวอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน จิตใจ และ สธ.ไม่ได้มีคำแนะนำให้กักตัวผู้ที่เดินทางจาก จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ขอให้โรงเรียนและสถานที่ทำงานทบทวนมาตราการดังกล่าว หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน 1422

นพ.วิชาญกล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าการสอบสวนโรคกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อในสถานกักกันโรคทางเลือกในกรุงเทพฯ ยอดสะสม 7 รายเท่าเดิม ข้อสรุปจากการสอบสวนโรคกลุ่มก้อนนี้ เป็นการติดเชื้อจากปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคทางเลือก โดยข้อสันนิษฐาน คือ 1 ราย ติดเชื้อจากผู้เข้าพักที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และแพร่กระจายให้กลุ่มเพื่อนที่คลุกคลีนอกเวลางาน แต่ไม่ได้แพร่ต่อไปบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในสถานกักกันฯ รายอื่นๆ

Advertisement

“การระบาดของกลุ่มก้อนนี้อยู่เพียงวงจำกัด สถานการณ์ควบคุมได้ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายถูกกักตัวตามมาตรฐาน โดยจะมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง โดยตรวจแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบติดเชื้อเพิ่มเติม บทเรียนจากกรณีนี้ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบมาตรฐานและการบริหารจัดการของสถานกักกันโรคทางเลือกอย่างเคร่งครัด ส่วน รพ.เอกชน คู่สัญญาสถานกักดันโรคทางเลือกทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบุคลากรทุกแห่ง เตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ และการป้องกันการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด” นพ.วิชาญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image