ปลัด สธ.สั่งทุกจังหวัดใช้สมุทรสาครโมเดล ตรวจโควิด-19 ชุมชนแรงงานเมียนมา

ปลัด สธ.สั่งทุกจังหวัดใช้สมุทรสาครโมเดล ตรวจโควิด-19 ชุมชนแรงงานเมียนมา

วันนี้ (21 ธันวาคม 2563) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (กทม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ร่วมกับผู้บริหารส่วนกลางส่วนภูมิภาค และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 จ.สมุทรสาคร สันนิษฐานว่า มาจากแรงงานเมียนมา จึงมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกแรงงานเมียนมาบริเวณหอพักใกล้ตลาดกลางกุ้ง ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ได้ปิดพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาดห้ามเข้าออกเพื่อจำกัดวงการระบาด ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง เกิดจากการตรวจพบเชื้อและมีการสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดการแพร่กระจาย เป็นการดำเนินงานเหมือนกรณีสนามมวยลุมพินี

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยให้ อสม.ช่วยฝ่ายปกครองสอดส่องผู้ที่มาจาก จ.สมุทรสาคร ให้ไปแสดงตัวและประเมินความเสี่ยง โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว หากมีความเสี่ยงสูงจะตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หากเสี่ยงต่ำอาจให้แยกตัวเฝ้าระวังอาการ เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในจังหวัดต้องสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว คัดกรองเชิงรุกในชุมชนแรงงานเมียนมา หากมีการติดเชื้ออาจใช้สมุทรสาครโมเดล โดยการปิดพื้นที่ทำ OQ (Organization Quarantine) ซึ่งเป็นการจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสม ปิดเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยง ไม่ได้เป็นการปิดทั้งจังหวัด และต้องสื่อสารให้ความรู้ประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากการปิดพื้นที่อาจทำให้ประชาชนกังวลและเดินทางออกจากพื้นที่ ขอให้มีการซักซ้อมความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ รวมถึงขอให้สถานประกอบการที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ดำเนินการตรวจด้วย Rapid Test

นอกจากนี้ ปลัด สธ.กล่าวว่า ได้มี 7 ข้อสั่งการจากกรณีพื้นที่จ.สมุทรสาคร 1.สื่อสารประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก โดยเฉพาะเรื่องของข่าวปลอมต่างๆ 2.เน้นย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชน สังเกตอาการตนเอง โดยให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ต้นแบบสวมหน้ากาก 100% 3.เน้นย้ำและตรวจสอบมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งส่วนบุคคลและสถานที่ ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ได้แก่ DMHT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก จัดที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ หากสงสัยให้เข้ารับการตรวจ เข้มการสแกนไทยชนะ และทำความสะอาดพื้นผิว 4.ลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก กรณีจำเป็นให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด 5.สุ่มตรวจกลุ่มแรงงานต่างด้าวตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนด 6.ให้ทุกจังหวัดเตรียมเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนาม และ 7.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลเรื่องการตรวจทางห้องแล็บให้เพียงพอและรวดเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image