โยกนพ.สสจ.สมุทรสาคร ดึงนักระบาดสกัดโควิด-19 ปลัดสธ.ยันไม่ใช่การลงโทษ

โยก นพ.สสจ.สมุทรสาคร ดึงนักระบาดนำทัพคุมโควิด-19 ปลัด สธ.ยันไม่ใช่การลงโทษ เผยแล็บตรวจได้วันละ 5 หมื่นตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าได้ออกคำสั่งโยกย้าย นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรสาคร ไปดำรงตำแหน่ นพ.สสจ.พังงา และสลับให้ นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นพ.สสจ.พังงา เป็น นพ.สสจ.สมุทรสาคร แทน ทั้งนี้การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ไม่ใช่การลงโทษ แต่เพื่อความเหมาะสม เนื่องจากในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ต้องการให้มีการควบคุมโรคที่รวดเร็ว แต่ นพ.ชาติชาย ไม่ได้เป็นแพทย์ระบาดวิทยา จึงต้องการผู้ที่มีความชำนาญเรื่องระบาดวิทยา มีประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาดมาแทน

“เรามองเรื่องประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่การลงดาบ ลงโทษ ไม่มี หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ที่มีคำสั่งไปนั้นก็เหมือนกับการจัดกองทัพ เอาคนที่มีความชำนาญมาออกรบ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ ปลัด กทม. กล่าวถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใน จ.สมุทรสาคร ว่า จะดูตามสถานการณ์ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เบื้องต้นขณะนี้วางไว้ 2 จุด สำหรับแรงงานเมียนมาโดยเฉพาะ 1 แห่ง และที่อยู่ระหว่างวางแผนจัดตั้งสำหรับคนไทย 1 แห่ง จากแต่เดิมประเทศไทยจะเอาทุกคนที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวกเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งหมด

Advertisement

“ที่ผ่านมาวันละไม่กี่ราย ก็ถือว่าพอไหว แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นจากนี้จึงจะปรับการดูแลผู้ติดเชื้อใหม่ โดยนำผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาใน รพ.ส่วนคนที่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง สามารถรุนแรงได้ก็ให้อยู่ที่ รพ.สนาม หากรุนแรงก็ส่งเข้ารักษาที่ รพ.ซึ่งอยู่ใกล้ๆ นั้น ทั้งนี้ย้ำว่า รพ.สนามที่จัดตั้งนั้น เป็นมาตรฐานเทียบเท่าหอผู้ป่วยแยกโรค (cohort ward)” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า ขณะเร่งทำการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในทุกพื้นที่ที่คาดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอาจเกิดการแพร่ระบาด เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกันในที่พักหรือโรงงาน ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง หรือกลุ่มที่มีโอกาสพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรหรือพนักงานต้อนรับประจำรถสาธารณะ อาชีพเสี่ยงอื่นๆ หรือกลุ่มที่มีแนวโน้มพบปะผู้ป่วยสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดนัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า ชุมชนแออัด เป็นต้น พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อจำกัดตีวงในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง และจะตรวจค้นหาอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งชุมชนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ขยายขีดความสามารถแลบที่สามารถตรวจหาโควิด-19 ได้ทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจได้ 50,000 ตัวอย่างต่อวัน มีการจับคู่ห้องปฏิบัติการกับ รพ.ต้นสังกัด เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ กับกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลที่ส่งตรวจ ทำให้การรับส่งเชื้อรวดเร็ว และรายงานผลใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในระบบเฝ้าระวังในปัจจุบัน หากมีอาการสงสัยป่วยโรคโควิด-19 ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง เข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่ รพ.โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ให้ สปสช.ผ่านกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการตรวจ โควิด-19 ให้กับ รพ.สอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร.1330

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image