กัญชา-กัญชง พืชเศรษฐกิจ ขอปลูกไม่ยากอย่างที่คิด

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ไม่ถึง 2 ปี ประเทศไทยได้มีการเรียนรู้ในการผ่อนคลายกฎ กติกา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพบริบทสังคมไทยโดยอิงตามหลักวิชาการ

จึงเป็นความก้าวหน้าในด้านการนำ กัญชาŽ และ กัญชงŽ มาใช้ประโยชน์ตามลำดับ

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการผ่อนคลายกฎหมายควบคุมพืชกัญชาและกัญชง ว่าประกาศ สธ. เรื่อง
ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ที่ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว

Advertisement

ภญ.สุภัทรา กล่าวถึงสาระสำคัญในประกาศฉบับนี้ว่า ได้มีการระบุชัดเจนว่ายาเสพติดใดที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และมีสิ่งใดที่ยกเว้น โดยประกาศกระทรวงฉบับนี้ ทั้งกัญชาและกัญชง ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนประกอบบางอย่าง เช่น ส่วนของพืชกัญชา กัญชง ได้แก่ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น เปลือก เส้นใย และใบที่ไม่รวมช่อดอก และสารสกัดที่ได้จากพืชกัญชา กัญชง ในปริมาณสารทีเอชซี (THC) ต่ำ ถูกยกเว้นจากการเป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5

”ตอนที่มีการขออนุญาตปลูกกัญชา กัญชง ยังคงเป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ แต่เมื่อปลูกไปแล้ว บางส่วนของพืชที่มีสารทีเอชซีต่ำ ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจากเดิมที่การขออนุญาตปลูกเพื่อนำช่อดอกไปทำยา แต่ทุกส่วนยังเป็นยาเสพติดหมด ก็จะต้องนำไปทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ในประกาศฉบับนี้จึงระบุว่า ส่วนประกอบของพืชที่ไม่เป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประกาศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทำลายทิ้งŽ” ภญ.สุภัทรา กล่าว

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในการขออนุญาตปลูกพืชกัญชา กัญชงกับ อย. เริ่มต้น ผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้งว่าจะนำส่วนประกอบของพืชกัญชา กัญชง ไปใช้ในรูปแบบใดและจำหน่ายให้กับใคร โดยต้องทำรายงานที่ชัดเจนแจ้งกับ อย. และผู้ที่จะรับส่วนประกอบนั้นๆ ไปต้องรับจากผู้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่กำลังดำเนินการในปัจจุบันส่งเสริมในการใช้ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติด แต่จะต้องได้มาจากแหล่งที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น

Advertisement

“เราสามารถแยกพืชกัญชา กัญชงได้จากค่าสารทีเอชซีที่เป็นสารก่อความมึนเมา หลอนประสาท และทำให้เกิดการเสพติด หากมีค่าทีเอชซีมากกว่าร้อยละ 1 ขึ้นไปจะถือว่าเป็นกัญชา โดยน้อยกว่าจะเป็นกัญชง”Ž ภญ.สุภัทรา กล่าว

ทั้งนี้ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ผู้ที่จะขออนุญาตปลูกกัญชาและกัญชงจะต่างกัน ส่วนของกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 เขียนไว้ชัดเจนว่า 5 ปีนับจากการประกาศ ผู้ขออนุญาตจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น ซึ่งอาจจะร่วมกับวิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัย เพื่อการศึกษาวิจัย แต่การขออนุญาตปลูกกัญชงระบุว่า สามารถเขียนกฎกระทรวงเรื่องกัญชงโดยเฉพาะ เนื่องจากความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่ทำให้มีประโยชน์มากกว่าทางการแพทย์ เช่น นำไปทอผ้า ประกอบอาหาร ทำเครื่องสำอาง


“ขณะนี้กฎกระทรวงเรื่องกัญชงกำลังจะออกตามมา ซึ่งจะอนุญาตให้ทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่เพียงหน่วยงานรัฐสามารถขออนุญาตปลูกได้ เช่น ภาคเอกชน เกษตรกร บริษัท หรือนิติบุคคล ก็สามารถขออนุญาตปลูกได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องมีบัญชีรับ-จ่าย เมื่อขออนุญาตปลูกจะต้องระบุว่าปลูกในพิกัดภูมิศาสตร์ พื้นที่กี่ไร่ ปลูกกี่ต้น และเมื่อปลูกแล้วจะต้องทำรายงาน อย.ว่าในการปลูกตามพื้นที่จะได้ผลผลิตเป็นช่อดอก กิ่งก้าน ใบ อย่างละกี่กิโลกรัม และจะจำหน่ายส่วนของพืชเหล่านั้นไปให้ใคร จะต้องทำบัญชีรายงานประจำเดือนและปีให้กับ อย.เพื่อป้องกันการรั่วไหล ตรงนี้มีประโยชน์มาก ทั้งกัญชาและกัญชงในส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด ก็จะไปตามแท็กยาเสพติด ผู้ที่มารับต่อจะต้องมีใบอนุญาตยาเสพติด แต่ในส่วนที่หลุดพ้นจากการเป็นยาเสพติดตามประกาศกระทรวงฉบับนี้ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น ผู้ขออนุญาตปลูกจะต้องทำรายงานให้กับ อย. แต่ผู้ที่มารับต่อไปไม่ต้องทำรายงาน เพราะหลุดจากการเป็นยาเสพติดแล้วŽ” ภญ.สุภัทรา กล่าว

รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกจะต้องทำรายงานกับ อย.ว่ามีบุคคลที่ 2 หรือที่ 3 รับส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ตนเองปลูกไป ดังนั้น หากพบบุคคลที่มีส่วนประกอบของพืชกัญชา กัญชงอยู่ในครอบครอง แต่ไม่สามารถระบุที่มาได้ว่ามาจากแหล่งอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ จะถือว่าเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อาจจะเป็นเพื่อจำหน่ายหรือเสพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่พบ ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือประชาชนทั่วไปจะต้องนำชิ้นส่วนจากกัญชา กัญชง มาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ภญ.สุภัทรา กล่าวถึงการนำพืชกัญชา กัญชง ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ว่าจะต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายใด เช่น หากนำใบไปทำชาชง นำรากไปทำเป็นยาแผนโบราณ จะต้องมาขออนุญาตกับกองสมุนไพรของ อย. นำเมล็ดกัญชงไปบดใส่แคปซูลเป็นอาหารเสริม ต้องขออนุญาตกับกองอาหาร การสกัดน้ำมันเพื่อทำเครื่องสำอาง ต้องขออนุญาตกับกองเครื่องสําอาง แต่หากนำเส้นใยไปทำเป็นเสื้อผ้าจะต้องไปขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มีประโยชน์ ทั้งการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น แต่ที่ยังเป็นสารเสพติดให้โทษตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากค่าสารทีเอชซีที่มีสารทำให้เกิดอาการหลอน เมา และเสพติดได้ ดังนั้น การกำกับดูแลของประเทศไทยในเรื่องนี้จะอิงตามหลักวิชาการและความเป็นสากล ส่วนที่ดี เป็นประโยชน์ เราจะนำมาใช้ให้ได้มากที่สุด ในส่วนที่ต้องพึงระวัง เราก็จะพยายามควบคุมให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ในเรื่องนี้เราพยายามทำให้ดีที่สุด”Ž ภญ.สุภัทรา กล่าว

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งพืชกัญชาและกัญชงยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้น การปลูกจะต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ผู้ที่จะนำส่วนต่างๆ ที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศไปใช้ประโยชน์จะต้องรับมาจากผู้ที่ได้รับการอนุญาตปลูกอย่างถูกต้องเช่นกันซึ่งการขออนุญาตปลูกกัญชา กัญชง และกฎกระทรวงกัญชงที่กำลังจะออกมาไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขณะนี้มีวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งที่ได้รับอนุญาตปลูกและได้ผลผลิตดี ดังนั้น อย่าเพิ่งกังวลว่าการขออนุญาตปลูกจะยาก เพราะไม่ยากอย่างที่คิด

“ฉะนั้น ใครก็แล้วแต่ที่มีความสนใจปลูกอย่างถูกกฎหมาย สามารถเดินไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใกล้บ้าน ขอความรู้จากเจ้าหน้าที่ในเรื่องของคุณสมบัติผู้ปลูกและการเตรียมตัวขออนุญาต”Ž รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า พืชกัญชาและกัญชงไม่ได้มีคุณค่าทางการแพทย์อย่างเดียว แต่จะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต เพราะพืชตระกูลนี้เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่มีพันธุ์กัญชาที่ดี

ภญ.สุภัทรา กล่าวทิ้งท้ายว่า ชาวต่างชาติหลายคนสืบค้นดีเอ็นเอกัญชาและกัญชงในประเทศของเขา ปรากฏว่ามีดีเอ็นเอมาจากประเทศไทย ดังนั้น หากเราเปิดกฎหมายให้มีการใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็จะมีผู้ที่สนใจปลูกและลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย เกษตรกรไทยที่เคยปลูกพืชอื่นราคาต่ำ หากหันมาปลูกกัญชาและกัญชง ด้วยสายพันธุ์และวิธีการที่ดี ไม่มีสารปนเปื้อน เมื่อได้ผลผลิตที่ดีก็จะทำให้มีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป

ทั้งนี้ สธ.เตรียมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชกัญชา กัญชง เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในทางการแพทย์และในเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกต้อง โดยตลอดปี 2564 จะลงไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ใน 4 ภูมิภาค เริ่มครั้งแรกเดือนมกราคม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคมนี้ ที่ จ.บุรีรัมย์ จากนั้นเดินสายไปในจังหวัดภูมิภาคต่างๆ จบครบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image