ผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก 11 ราย สธ.เช็กลิสต์เตียงในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พร้อมรับมือ

ผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก 11 ราย สธ.เช็กลิสต์เตียงในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พร้อมรับมือ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 1 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้มีการสำรองเตียงในโรงพยาบาล (รพ.) ทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ จำนวน 22,690 เตียง สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สำรองเตียงไว้ 2,778 เตียง ซึ่งจะมีภารกิจในการรับการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักจาก จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกด้วย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 นอนรักษาอยู่ 277 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย มี 8 ราย ที่อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและนอนรักษาในห้องไอซียู

“ส่วนพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งครอบคลุม จ.สมุทรสาคร นั้น มีเตียงสำรอง 1,647 เตียง มีผู้ป่วยนอนรักษา 320 ราย อาการหนัก 1 ราย และเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออก ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ไปจนถึงจ.ตราด มีสำรองไว้ 2,628 เตียง ผู้ป่วยนอนรักษาอยู่ 248 ราย อาการหนัก 2 ราย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

นอกจากนั้น นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กรณีห้องไอซียูความดันเป็นลบและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จากการระบาดรอบแรกมีค่าเฉลี่ยของผู้ที่นอน รพ.ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย 14 วัน และผู้ที่มีอาการหนัก 17 วัน จึงนำมาคาดการณ์ตัวเลข พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ห้องไอซียูรับผู้ป่วยใหม่เพิ่มได้วันละ 24 ราย ทั่วประเทศรับได้ 96 รายต่อวัน โดยหากมีจำนวนผู้ป่วยรับใหม่สูงสุด 276-480 รายต่อวัน จะต้องใช้ไอซียูร้อยละ 5-8.7 และรับผู้ป่วยเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 17 วัน ทั่วประเทศจะมีห้องไอซียูหมุนเวียนได้ 1,103-1,920 ราย

Advertisement

“การสำรองเตียงและการบริหารจัดการเตียงใน รพ.มีความเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง รพ.สนาม เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก จะได้สำรองใน รพ.ไว้สำหรับผู้มีอาการป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลใน รพ. โดยในส่วนของเขตสุขภาพที่ 6 กองทัพเรือได้มอบค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า เพื่อเป็น รพ.สนาม สามารถเปิดได้ในวันที่ 2 มกราคมนี้ ทันที หากมีความจำเป็นต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และจะหาพื้นที่เช่นนี้เตรียมการไว้ในทุกจังหวัดด้วย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการหนักนอนรักษาตัวในห้องไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ 11 ราย มี 1-2 ราย ที่แพทย์เฉพาะทางต้องดูแลใกล้ชิด และ 2-3 ราย มีโอกาสจะย้ายออกจากห้องไอซียูได้ในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปานกลางและหนักจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความรุนแรงจะอยู่ฝั่งภาคตะวันออกมากกว่า จ.สมุทรสาคร เพราะผู้ป่วยหลายคนมีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image