สธ.ขอเวิร์กฟรอมโฮม-กินข้าวแยกวง-งดนั่งร้าน ลดโควิด-19 สั่ง รพ.ทั่วปท.จัดกำลังรับมือ 2เดือน

สธ.ขอเวิร์กฟรอมโฮม-กินข้าวแยกวง-งดนั่งร้าน ลดโควิด-19 สั่ง รพ.ทั่วปท.จัดกำลังรับมือ 2เดือน

เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศ ว่า สถานการณ์ภาพรวม ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 (ศปค.สธ.) ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอมาตรการต่างๆ ซึ่งในวันนี้จะมีรายละเอียดออกมา เชื่อว่าหากประชาชนให้ความร่วมมือจะลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์จุดกลางการระบาดยังอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก ที่เป็นพื้นที่สีแดง และจังหวัดพบผู้ติดเชื้อยังคงที่ 53 จังหวัด แต่ในรายจังหวัดมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น จันทบุรี ตราด ฯลฯ เปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีแดง ขณะที่ จ.อ่างทอง มีประเด็นเรื่องบ่อนไก่ มีนักพนันติดเชื้อจำนวนมาก แต่ถ้าสังเกตจะพบว่า วงรอบนอกไม่ว่าจะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ตอนล่าง การระบาดยังเป็นสีเหลือง และหลายจังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมผู้ป่วยที่ติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร และเข้าไปในจังหวัดและติดตามผู้สัมผัสได้ดี ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ดังนั้น ความความเข้มข้นของการดำเนินงานอยู่ที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก บางพื้นที่ของภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน

“หากเทียบวันต่อวัน ภาพรวมของประเทศยังพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นตัวเลขสีแดง ซึ่งแปลว่าไม่ดี ส่วน จ.สมุทรสาคร ตอนต้นมีระบาดเยอะแต่ตอนนี้คุมสถานการณ์ได้ แต่ที่เราต้องจับตา คือ กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด จังหวัดอื่นๆ ถือว่าดำเนินการได้ดี เช่น นครปฐม ที่พบรายใหม่เยอะ แต่ตอนนี้พบแค่ 1-2 ราย แม้ปีใหม่จะเดินทางลดลง แต่เราต้องดำเนินมาตรการเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมการระบาดมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ดังนั้น มาตรการค้นหา ติดตามผู้สัมผัสเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้ จำเป็นต้องมีมาตรการที่ลดกิจกรรม ลดการเดินทางของคน รวมถึงปิดสถานที่เสี่ยงอย่างกว้างขวาง หรือที่ประชาชนเรียกว่า ล็อกดาวน์ ในบางจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งตามแผนที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ประกอบด้วย ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และกรุงเทพฯ

Advertisement

“ส่วนพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด เป็นสีส้ม ประกอบด้วย สุโขทัย กำแพงเพชน นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และ พังงา ส่วนจังหวัดที่เหลือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด หรือสีเหลือง แม้ว่าจะไม่มีผู้ป่วยแต่ต้องเฝ้าระวัง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สิ่งที่เรากังวลคือ ในแต่ละจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางระบาด เช่น นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวรายวัน โดยเฉพาะโรงงาน ตลาด ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งผิดและถูกกฎหมาย เพื่อการติดตามได้ ผู้ประกอบการเองก็ห้ามรับแรงงานที่ไม่ทราบที่มา ส่วนในการระบาดที่ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และอื่นๆ สัมพันธ์กับบ่อนพนัน เนื่องจากอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ห้องแออัด คนส่งเสียงและไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยมีอีกจุดหนึ่งคือสถานบันเทิง ร้านอาหาร ที่คนไม่สวมหน้ากากอนามัยระหว่างรับประทานอาหาร และมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย

“เป็นเหตุผลที่ สธ. โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้มีข้อเสนอไปยัง ศบค. พร้อมการยืนยันด้วยเหตุผลให้ร้านอาหารเปิด แต่เป็นการซื้ออาหารกลับบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ซึ่งได้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว เช้าวันนี้ ปลัด สธ.ได้สั่งการไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ประชุมทุกวันร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมโรงพยาบาล (รพ.) สนาม ให้พร้อมโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงและส้ม เปิดคลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจหาเชื้อทุกรายที่มีประวัติเสี่ยง เช่น มีประวัติสัมผัสแรงงานต่างด้าว ไปบ่อนการพนัน พร้อมทั้งเตรียมทรัพยากรและบุคลากรในรพ.ให้พอสำหรับอย่างน้อย 2 เดือน” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เฝ้าระวังตรวจตราคัดกรอง ผู้เดินทางจากต่างพื้นที่เข้าชุมชน เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว พยายามไม่ให้คนนอกพื้นที่มาพบปะมากนัก พร้อมช่วยสอดส่องดูแลสถานกักกันโรคด้วย สำหรับประชาชนขอความร่วมมือ หากเป็นไปได้ขอให้อยู่บ้าน และที่ทำงานจากบ้าน (Work from home) เลี่ยงการรับประทานร่วมกับเพื่อนที่ทำงาน เพื่อลดความเสี่ยง ให้รับประทานคนเดียว หรือเลี่ยงไม่ได้ให้ร่วมเฉพาะคนในครอบครัว หลีกเลี่ยงกิจกรรมอื่นๆ ที่สาธารณะ ขอย้ำว่าสถานที่เสี่ยงปิดและควบคุม โดยเฉพาะร้านอาหารเปิดเฉพาะให้ซื้อกลับบ้าน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image