สธ.ลุยต่อวัคซีนโควิด-19 ผุดทีมอำนวยการฉีด ถกนัดแรก 15ม.ค.นี้ ยันไม่ปิดกั้นเอกชน

สธ.ลุยต่อวัคซีนโควิด-19 ผุดทีมอำนวยการฉีด ถกนัดแรก 15 ม.ค.นี้ ยันไม่ปิดกั้นเอกชน แต่ต้องผ่าน อย.

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างการรับรู้ การให้บริการวัคซีน การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต การรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อ ความเสี่ยงผู้สัมผัส โดยวัคซีนที่จัดหามานั้น ได้มาตรฐาน คุณภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย ในช่วงแรกที่วัคซีนจำกัด เป้าหมายคือ การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้น คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด เริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้กำหนดการรณรงค์ให้บริการวัคซีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์–พฤศจิกายน 2564 โดย สธ.จะเร่งสื่อสารประชาชน ให้มีความรู้ทั้งผลดีและข้อความระวัง และประสานโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ และได้ให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเป้าหมายล่วงหน้า เตรียมจัดบริการรองรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จัดทีมบริการเคลื่อนที่ และเตรียมความพร้อมเรื่องระบบลูกโซ่ความเย็น โดยจะมีระบบการเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน และติดตามประเมินผลการให้บริการเป็นรายเขต จังหวัด อำเภอ และพื้นที่

Advertisement

ต่อมา นพ.โอภาส ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับคนไทย พร้อมทั้งได้ตั้ง คณะอนุกรรมการอำนวยการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน กำกับดูแลเรื่องเตรียมความพร้อมสถานบริการและการให้วัคซีน

“เป็นเรื่องใหญ่ มีรายละเอียดเยอะ ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดกลุ่มเสี่ยง การอบรมบุคลากร การขนส่งวัคซีนและการจัดสถานที่ช่วยเหลือ และการติดตามผลหลังการฉีด ฯลฯ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นการดำเนินการของเอกชน แต่ตามหลักการต้องมีการนำเอกสารเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยไปยื่นขออนุญาตที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน แต่เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีใครทำ มีเพียงการแจ้งยอดว่าจะนำเข้ามาเท่าไร ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน มีวัคซีนจากหลายบริษัททยอยมีความสำเร็จในการทดลองเริ่มต้นในระยะที่ 3 เริ่มมีการจดทะเบียนในต่างประเทศ และเริ่มนำผลิตภัณฑ์ และนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ อย.พิจารณาขึ้นทะเบียน ขณะนี้มากกว่า 1 รายแล้ว ส่วนเรื่องราคาก็ปรับเปลี่ยนตามกลไกลตลาด วัคซีนแต่ละตัวราคาไม่เท่ากัน แต่ของรัฐบาลที่เจรจากับแอสตราเซนาก้านั้น มีหลักการคือ ไม่คิดกำไร จึงได้ในราคาถูก แต่ถ้าเป็นภาคเอกชนการควบคุมราคาจะอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า รัฐได้เร่งจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยครอบคลุมที่สุด ได้มีการเร่งรัดในที่ประชุมและวางแผนการทำงาน โดยจะมีการประชุมในวันที่ 15 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีมาตรการป้องกันการรับเชื้อจากภายนอกด้วย คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ควบคู่กับการฉีดวัคซีน

ขณะที่ นพ.สุรพล โล่ห์สิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ทุกโรงพยาบาลยินดีสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงคนไทยทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์ มีความสามารถที่จะจ่าย ก็จะสนับสนุนให้สามารถเข้ามารับบริการได้ ช่วยตัวเองได้

“การนำวัคซีนเข้ามา จะต้องเป็นชนิดที่ได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งคาดว่าวัคซีนตัวที่ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐอเมริกา แล้ว น่าจะได้รับการรับรองจาก อย.ไทย เช่นกัน ซึ่งหากได้รับการรับรองแล้วก็จะนำเข้ามาได้หลังจากนั้นอีก 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้รัฐบาลนำเข้ามาให้กับกลุ่มได้อย่างพอเพียงก่อน ส่วนกลุ่มเสี่ยงน้อย หรือไม่เสี่ยงก็ค่อยว่ากันอีกที” นพ.สุรพล กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image