‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ เก็บ 15 บาทตลอดสาย 16 ม.ค.นี้ เคทีเผยโควิด-19 ทำผู้โดยสารลด 70%

“รถไฟฟ้าสายสีทอง” เก็บ 15 บาทตลอดสาย 16 ม.ค.นี้ เคทีเผยโควิด-19 ทำผู้โดยสารลด 70%

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้เปิดให้บริการเดินรถ ระบบขนส่งมวลชนระบบรองสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี (G1)-สถานีคลองสาน (G3) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 โดยเปิดให้บริการฟรีตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 มกราคม 2564 และจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2564 นี้เป็นต้นไป ซึ่งนอกจากการใช้บริการกดบัตรโดยสารที่บริเวณสถานีแล้ว ผู้โดยสารที่ใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสรายเดือนและบัตรแรบบิท สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองได้เช่นกัน โดยหักเป็นรายเที่ยว หรือหักตามมูลค่าค่าโดยสารเที่ยวละ 15 บาท แล้วแต่ชนิดของบัตร

นายเกรียงพลกล่าวต่อว่า จากสถิติการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ประมาณ 10,000 เที่ยวคนต่อวัน โดยสถานีที่มีประชาชนใช้บริการสูงสุดคือที่สถานีเจริญนคร (G2) แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกสองที่เริ่มมีผู้ป่วยในกรุงเทพฯตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธันวาคม 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการควบคุมโรค ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยประกาศให้สถานศึกษาในพื้นที่หยุดเรียน เน้นการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) รวมทั้งการจำกัดจำนวนคนเข้าสถานที่ต่างๆ และเข้มงวดการเดินทางของประชาชน ทำให้ผู้โดยสารลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ประมาณ 3,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งเป็นแนวโน้มในทิศทางเดียวกันกับปริมาณผู้โดยสารในส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงห้าแยกลาดพร้าว (N9)-คูคต (N24) ที่บริษัทได้เปิดให้บริการถึงสถานีปลายทางคูคต ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 125,444 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งในช่วงแรกที่ให้บริการมีผู้โดยสารมากกว่า 150,000 เที่ยวคนต่อวัน แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน โดยในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ขณะนี้ทางฝ่ายนโยบายยังไม่มีกำหนดจัดเก็บค่าโดยสาร

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการทำความสะอาดและ ขอความร่วมมือผู้เดินทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเคร่งครัด ตลอดเวลาที่ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการป้องกันในทุกระบบขนส่งมวลชนที่บริษัทให้บริการ ทั้งโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม โครงการรถบีอาร์ที โครงการรถบริการสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ให้กำหนดรอบการทำความสะอาดด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและหลังให้บริการในแต่ละวัน” นายเกรียงพลกล่าว และว่า สำหรับโครงการพัฒนาการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม ที่บริษัทเปิดให้บริการเรือไฟฟ้าจำนวน 7 ลำไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563 ได้รับความสนใจจากประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยที่ประมาณ 1,000 เที่ยวคน/วัน แต่หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้โดยสารก็ลดลงกว่า 70% ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image