สปสช.ปรับระบบจ่ายเงินหนุนโครงการเจาะเลือดใกล้บ้าน ลดความแออัดใน รพ.

สปสช.ปรับระบบจ่ายเงินหนุนโครงการเจาะเลือดใกล้บ้าน ลดความแออัดใน รพ.

วันที่ 14 มกราคม นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดตัวโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หรือโครงการเจาะเลือดใกล้บ้านตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการวางระบบการเจาะเลือด การเก็บและการส่งตัวอย่างที่สถานบริการสาธารณสุข คลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้านก่อนนัดพบแพทย์ สปสช.ได้ทำการปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ โดยนำร่องระบบการจ่ายค่าบริการเจาะเลือดและเก็บสิ่งตรวจนอกหน่วยบริการ ในอัตรา 80 บาทต่อครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนำร่องในระยะแรก เน้นเจาะเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี เป็นหลัก

นพ.จักรกริช กล่าวว่า จุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลคือ ระยะเวลาในการรอคอยการเจาะเลือดและบริการทางห้องแล็บ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีที่ สธ.จัดทำโครงการการเจาะเลือดใกล้บ้านที่สถานบริการสุขภาพคลินิกเอกชน หรือ รพ.สต. ก่อนพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลของประชาชนที่เข้ามารับบริการได้มากกว่า 2-5 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมการจัดบริการแบบนิว นอร์มอล (New Normal) ช่วยให้การรักษาระยะห่างในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยเฉพาะโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ในอนาคตอันใกล้ การตรวจทางห้องแล็บนอกหน่วยบริการยังจะเป็นส่วนเติมเต็มครั้งสำคัญให้การจัดบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลทุกๆช่วงเวลาหนึ่ง การเจาะเลือดนอกหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้แพทย์เรียกดูข้อมูลผลการเจาะเลือดผ่านระบบออนไลน์เพื่อประกอบการตรวจรักษาหรือปรับยาให้เหมาะสมได้ จากนั้นเวลารับยาก็ยังมีโครงการส่งยาทางไปรษณีย์หรือโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ทำให้ภาพของการจัดบริการในรูปแบบนิว นอร์มอล มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังคงได้รับบริการที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าการเดินทางมาโรงพยาบาลเช่นเดิม

นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า หน่วยตรวจเจาะเลือดและเก็บสิ่งส่งตรวจนอกหน่วยบริการ ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐานหน่วยบริการเก็บตัวอย่างและขนส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีการเชื่อมโยงการบริการและข้อมูลสารสนเทศภายในเครือข่ายหน่วยตรวจเจาะเลือดและเก็บสิ่งส่งตรวจนอกหน่วยบริการกับ สปสช.

Advertisement

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงการนำร่องในโรงพยาบาลที่มีความแออัดสูง ประกอบด้วย 1.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2.รพ.พุทธชินราช 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 4.รพ.พระนั่งเกล้า 5.รพ.ปทุมธานี 6.รพ.นครปฐม 7.รพ.สมุทรสาคร 8.รพ.บ้านโป่ง 9.รพ.สมุทรปราการ 10.รพ.ชลบุรี 11.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 12.รพ.ขอนแก่น 13.รพ.อุดรธานี 14.รพ.มหาราชนครราชสีมา 15.รพ.บุรีรัมย์ 16.รพ.สุรินทร์ 17.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 18.รพ.ระนอง 19.รพ.หาดใหญ่ และ 20.รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างไรก็ดี การดำเนินการในเฟสที่ 2 จะมีการเพิ่มจำนวนหน่วยตรวจทางห้องแล็บนอกหน่วยบริการให้มากขึ้นและจะดำเนินการในหน่วยบริการสังกัดอื่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image