อย.ระดมทีมประเมินขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ชี้รับทุกราย ขอเพียงทำครบขั้นตอน

อย.ระดมทีมประเมินขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ชี้รับทุกราย ขอเพียงทำครบขั้นตอน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าววว่า อย.มีหน้าที่ดูแลเรื่องยาและวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. ด้วยการประเมินใน 3 เรื่องใหญ่ คือ คุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ว่ามีเพียงพอในการนำมาใช้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่จะยื่นขอขึ้นทะเบียนจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาประกอบ สำหรับวัคซีนโควิด-19 จะมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมถึงระดมผู้เชี่ยวชาญมาจากทั่วประเทศมาช่วยประเมินและพิจารณาวัคซีน เพื่อให้ขั้นตอนเร็วขึ้น และเกิดการพิจารณารอบด้าน ขณะนี้มี 2 บริษัทที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ แอสตราเซนเนก้า และ ซิโนแวค นอกจากนี้ยังต้องมีผู้รับผิดชอบนำเข้าหรือยื่นขึ้นทะเบียน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย

“ทั้งนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ผู้นำเข้า และผู้ผลิตวัคซีน ผู้นำเข้าต้องมีหลักฐานว่านำเข้าจากผู้ผลิตโดยตรง ดังนั้น หากใครก็ตามมานำเข้าโดยไม่มาขอยื่นเป็นผู้นำเข้าก่อน ก็มีปัญหาว่าเมื่อเขานำเข้ามาก็อาจจะได้วัคซีนที่ไม่ถูกต้อง หรือวัคซีนปลอม ฉะนั้น การที่ผู้นำเข้ามายื่นกับ อย. ก่อนก็จะประกันได้ว่าผู้นำเข้าติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง อีกประการคือ ผู้นำเข้าจะต้องมีความรับผิดชอบ เมื่อจัดจำหน่ายแล้วมีปัญหาอะไรระหว่างนี้ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย” นพ.สุรโชค กล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย.ยินดีให้กับผู้ผลิตและบริษัทนำเข้าที่ไม่ใช่เฉพาะ 2 บริษัทที่กล่าวมา ก็คือใครก็ตามที่มายื่นขอเป็นผู้นำเข้าและนำวัคซีนพร้อมเอกสารประกอบมาขึ้นทะเบียน อย.ก็พร้อมยินดีรับ รวมทั้งเอกชน หรืออาจเป็นบริษัทนำเข้ายาโดยตรงอยู่แล้ว โรงพยาบาลเอกชนที่ซื้อกับบริษัทที่มีการนำเข้า หรือบริษัทเอกชนขอยื่นเป็นผู้นำเข้า สามารถนำเอกสารมายื่นประเมินประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยได้

“ขอเรียนว่า การพิจารณา เราทำขั้นตอนครบ เพียงแต่ทำให้กระบวนการเร็วขึ้น ไม่ได้ข้ามขั้นตอน แต่ระดมผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ขั้นตอนต่างๆ ทำไปพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าหาก รพ.เอกชน สนใจจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 สามารถทำได้หรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ทำได้ หากเป็นเอกชนหรือ รพ.เอกชน ไม่เคยนำเข้ายาหรือวัคซีนมาก่อนต้องทำ 2 ส่วน คือ ขี้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าวัคซีนและยื่นเอกสารวัคซีนที่จะนำเข้ามา แต่หากเป็นกรณีที่บริษัทที่มีการนำเข้ายาหรือวัคซีนอยู่แล้วก็จะทำเพียง 1 ส่วนคือยื่นเอกสารตัววัคซีน แต่ในขณะนี้ยังไม่มี รพ. ใดติดต่อมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หากจะนำเข้ายาหรือวัคซีน จะต้องมีหลักฐานว่าผู้นำเข้ามีการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง และจะต้องมีการวางแผนเก็บหรือกระจายยาอย่างไร

ต่อข้อถามว่า หากขณะนี้การขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ แต่มี รพ.หรือบริษัทใดที่ออกมาให้ข้อมูลหรือรับจองวัคซีน มีความผิดหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ตามหลักการแล้วมีความผิด เพราะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่จะนำเข้ามาว่ามีผลการป้องกันโรคอย่างไร หรือหากเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วในไทย แต่ผู้ที่จะนำเข้ามาก็ต้อง ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าก่อน พร้อมแสดงหลักฐานว่าตนเองมีการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง และยื่นเอกสารวัคซีนนั้นๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถรู้ได้ว่า เขารับวัคซีนจากไหนมาฉีดให้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image