สธ. ย้ำอีกครั้ง รพ.สนาม ปลอดภัย ไร้ติดเชื้อ ขอให้ปชช. วางใจได้

สธ. ย้ำอีกครั้ง รพ.สนาม ปลอดภัย ไร้ติดเชื้อ ขอให้ปชช. วางใจได้

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และ นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. รายงานสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 271 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวัง 78 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชนและโรงงาน 181 ราย มาจากต่างประเทศ 12 ราย ยอดสะสมในการระบาดรอบใหม่รวม 7,025 ราย หายป่วย 717 ราย เหลือรักษาที่โรงพยาบาล(รพ.) 2,110 ราย เสียชีวิต 2 ราย สะสมเป็น 9 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.13 ถือว่าต่ำมาก ยังคงอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 13 ราย ข้อมูลผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ที่สองลดลงเหลือพันกว่าราย จากสัปดาห์แรก 2 พันกว่าราย สถานการณ์เริ่มจะคงที่และลดลง เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะผ่อนคลายมาตรการได้เร็วขึ้น แต่การ์ดต้องไม่ตก หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ ช่วง 7 วันที่ผ่านมาไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มี 20 จังหวัด และไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เลยเหลือ 17 จังหวัด

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรอบแรกจำนวน 60 ราย ส่วนรอบใหม่สะสม 9 ราย ถือว่าอัตราการเสียชีวิตของรอบแรกสูงกว่า เนื่องจาก 1.ผู้ป่วยเสียชีวิตรอบใหม่อายุไม่มาก อาการไม่รุนแรงมาก แต่ที่เสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัวหลายโรค และ 2. การป้องกันตนเองของทุกคน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ฯลฯ ทำอย่างเต็มที่ทำให้อัตราเสียชีวิตลดลง ส่วนการเทียบการระบาดทั้งสองรอบ สัดส่วนไม่ต่างกันมาก ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในประเทศ อัตราชายหญิงพอๆ กัน กลุ่มอายุที่ติดเชื้อมากของระลอกแรกเฉลี่ย 50-59 ปี ส่วนระลอกใหม่อายุเฉลี่ย 40-49 ปี

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวถึงความสำคัญของ รพ.สนาม ว่า จากการลงไปทำงานในพื้นที่ ประเด็นสำคัญของ รพ.สนาม คือ 1.ต้องมีความปลอดภัย ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการทิศทางการไหลของอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากพื้นที่ และ 2.ผู้ป่วยร้อยละ 70-80 ไม่มีอาการ ถ้าผู้ป่วยจำนวนมากแล้วไปอยู่ รพ.ปกติ จะทำให้เตียงที่เตรียมไว้รักษาคนในชุมชนจะไม่มีพื้นที่ บุคลากรต้องไปดูแล ระมัดระวังในห้องต่างๆ ทั้งผ่าตัด ห้องไอซียู ดังนั้น การเตรียม รพ.สนาม และรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่โดยนำผู้ป่วยมาอยู่ ทำให้ รพ.ปกติสามารถบริการต่อไปได้ ขณะนี้มี รพ.สนามจัดตั้งแล้ว 8 แห่งใน 4-5 จังหวัด โดยสมุทรสาครจำเป็นต้องใช้มาก โดยทุกแห่งทำตามแนวทางความปลอดภัย ไม่มีปล่อยให้ติดเชื้อภายนอกหรือติดเชื้อไปสู่ชุมชน และเริ่มได้รับการติดต่อภาคเอกชนหลายรายและหลายจังหวัดเพื่อสนับสนุนพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ

Advertisement

ด้าน นพ.สามารถ กล่าวว่า เรากำหนดแนวทางจัดตั้ง รพ.สนามเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชน โดยหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ 1.การสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ รพ.สนาม ใช้กลไกประชาคม ท้องถิ่น และ อสม. สื่อสารกับประชาชน ยืนยันว่าเรามีสื่อสารกัน ไม่ปกปิดข้อมูล และจะทำให้มีความปลอดภัย หรือร่วมแจ้งว่ามีเหตุอะไรที่จะไม่ปลอดภัย เพื่อจะได้ตรวจสอบหากเป็นจริงจะได้แก้ไขไม่ให้เชื้อออกมาสู่ชุมชน 2.อาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จุดที่ตั้งโดยหลักมีสถานที่ 5 แห่ง คือ ที่โล่งว่างเปล่า ห่างไกลชุมชน 10-20 เมตร ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์, หอประชุม สนามกีฬาที่ห่างไกลจากชุมชน, พื้นที่โล่งใน รพ. , อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่

นพ.สามารถ กล่าวต่อว่า กรณีสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่เปลี่ยนแปลงเป็น รพ.สนามลักษณะโรงแรม จะต้องออกแบบกลางเพื่อให้นำไปปรับใช้ โดยแบ่งเป็น โซนสีเหลืองสำหรับผู้ป่วย สีเขียวของเจ้าหน้าที่ และโซนสีส้มคือกระบวนการห้องน้ำ และขยะติดเชื้อ ซึ่งส่วนสีส้มที่คนกังวลนั้น ทางสถาปนิกและวิศวกรมีการออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดที่จะไม่ไปยุ่งกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ พร้อมใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด ทดสอบน้ำละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิด-19 ภายในของชุมชนหรือไม่

“สีเขียว สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีชั้นในการเข้า 2-3 ชั้น เมื่อเข้าไปในโซนผู้ป่วยสีเหลือง เมื่อกลับออกมาก็ต้องอาบน้ำ ถอดชุดเพื่อไม่ให้เชื้อติดเข้ามาในส่วนปฏิบัติงานสีเขียว และผู้ป่วยหายแล้วที่จะกลับบ้าน ต้องถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ไม่เอาเสื้อผ้าที่มีเชื้อเปื้อนกลับไปสู่ชุมชน นี่คือสิ่งที่ สธ.ออกแบบ” นพ.สามารถกล่าว

Advertisement

3.ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้ง รพ.สนามให้เฉพาะกรณีโรคโควิด 19 เท่านั้น ที่รับการยกเว้นจากพ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นอนุญาตให้เกิดขึ้น โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นชอบเป็นผู้เลือกสถานที่ ถือว่าทำตามถูกกฎหมาย และ 4.การรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ทำแนวทางและปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้คนป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยปลอดภัยที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีรถเอกซเรย์เข้าไปดูหรือรับส่งต่อได้ ยืนยันว่า รพ.สนามมีความปลอดภัย หากเห็นแล้วไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image