บัตรทอง ยกระดับชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง 1 มกรา 64 รับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

แม้ว่าการรักษาโรคมะเร็งจะถูกบรรจุให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและป้องกันการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล หากแต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ยังเดินหน้าทำลายอุปสรรคอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่รวดเร็ว สะดวก สบายมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทองยังต้องเผชิญกับปัญหาการรอคิวนาน โรงพยาบาลหนาแน่น การส่งตัวเพื่อรับการรักษาต่อที่ต้องใช้ใบส่งตัว เหล่านี้ทำให้กระทบต่อความต่อเนื่องในการรักษา และประสิทธิภาพในการรักษา นั่นเพราะมะเร็งเป็นโรคที่ต้องการความรวดเร็วและต่อเนื่อง


“โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมŽ” คือนโยบายใหม่แกะกล่องของ นายอนุทิน ชาญวีรกูลŽ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ถูกขับเคลื่อนออกมาเพื่อทลายข้อจำกัดข้างต้น โดยจะมีผลพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564

Advertisement

 




“หน่วยบริการทุกที่จะต้องพร้อมในวันที่ 1 มกราคมนี้ ไม่มีข้อยกเว้น ต้องทำให้ได้ เราทำโครงการแบบนี้มาจะล้มเหลวหรือสะดุดไม่ได้Ž นายอนุทินกล่าวระหว่างมอบนโยบาย ภายใต้พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติŽ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563

Advertisement

งานดังกล่าว จัดขึ้นโดย สปสช. ร่วมกับ สธ. โดยกรมการแพทย์และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนทั่วประเทศว่า นโยบายนี้จะถูกขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบชนิดไร้รอยต่อ

นายอนุทิน บอกว่า นโยบายนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นต่อระบบบัตรทอง ซึ่งโครงการนี้จะสามารถลดปัญหาและอุปสรรคการเข้ารับบริการของประชาชนได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคที่ความร้ายแรง และเป็นต้นเหตุของการคร่าชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก

ในฐานะเจ้ากระทรวงหมอ นายอนุทินŽ ได้สั่งการให้ สธ.ยกระดับคุณภาพของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งให้มีศักยภาพและพร้อมในการรักษา พร้อมทั้งจัดระบบเครือข่ายบริการภายในเขตเพื่อง่ายต่อการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งภายใน-ข้ามเขต

“สิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก คือการเสนอให้รัฐบาลอนุมัติจัดซื้อเครื่องฉายรังสีมะเร็งอีก 7 เครื่อง กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์Ž” รัฐมนตรีว่าการ สธ.ระบุ

มุมมองจาก สธ. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์Ž รองปลัด สธ. ให้ภาพหลังจากเริ่มดำเนินนโยบายว่า นับจากนี้คนไข้จะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ในเขตพื้นที่ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด โดยกรมการแพทย์ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนกระจายทรัพยากรให้กับแต่ละเขตแล้ว ยืนยันว่าชาวบ้านสามารถเข้ารักษาได้ในทุกภูมิภาค

ความมั่นใจข้างต้น ได้รับการสำทับอีกครั้งจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิŽ ประธานเครือข่าย UHosNet ที่เชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยเชื่อมต่อการทำงานระหว่างหน่วยบริการหน้างาน หน่วยบริการสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรักษา

สอดคล้องกับที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนาŽ เลขาธิการ สปสช. มั่นใจว่า นโยบายใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการขอใบส่งตัว เนื่องจากที่ผ่านมา ใบส่งตัวจะมีอายุเพียง 90 วัน ทำให้ผู้ป่วยต้องขอใหม่อยู่เรื่อยๆ บางครั้งกระทบต่อความต่อเนื่องในการรักษา ทว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข
มากไปกว่านั้น ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น หลายแห่งมีระบบรังสีรักษา ประกอบกับการจัดซื้อเครื่องฉายมะเร็งอีก 7 เครื่อง ส่งผลให้หลังจากนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ เหมือนในอดีต แน่นอนว่าปัญหาการรอคิว-การกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่จะคลี่คลายลง

”จากนี้แต่ละโรงพยาบาลจะมีผู้ประสานงานคอยตรวจสอบข้อมูลว่าคิวการรักษาเป็นอย่างไร โรงพยาบาลใกล้บ้านใดที่มีศักยภาพและไม่ต้องรอคิวนาน จึงอยากให้ความมั่นใจประชาชนว่า ขณะนี้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยสามารถให้การรักษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานอย่างแน่นอน”Ž นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

สำหรับการดำเนินนโยบาย โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมŽ จะมีการนำเทคโนโลยีการสื่อสาร-ระบบฐานข้อมูลออนไลน์-แอพพลิเคชั่น เข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกรมการแพทย์ได้ขานรับและพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ไว้รองรับอย่างพรั่งพร้อมแล้ว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์Ž อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า ทันทีที่มีการประกาศนโยบายนี้ กรมการแพทย์ได้เตรียมพร้อมใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.ระบบข้อมูล โดยจะสามารถส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลได้ถูกต้อง ครอบคลุม และเป็นปัจจุบัน 2.ระบบบริการ ซึ่งจะต้องมีการจัดระบบบริการภายในโรงพยาบาล และระหว่างเครือข่ายในกรณีที่ต้องส่งต่อไปยังหน่วยบริการระดับที่สูงกว่าทั้งในเขตและข้ามเขต 3.การจ่ายชดเชย ที่จะครอบคลุมทั้งผู้ป่วยเก่าและผู้ป่วยใหม่ตั้งแต่เริ่มรักษาจนถึงการตรวจติดตาม

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมการแพทย์ได้พัฒนา 4 โปรแกรม เพื่อรองรับนโยบายนี้ ได้แก่ 1.Thai Cancer-Base Plus การส่งต่อข้อมูลระบบมะเร็งของไทยโดยคาดหวังให้ทุกคนได้ใช้ร่วมกัน ระบบส่งต่อข้อมูลจะชัดเจนมากขึ้น 2.The One เป็น Platform สำหรับโรงพยาบาลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบคิวสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเริ่มมีการใช้งานในกรุงเทพฯ แล้ว 3.Hospital Cancer Coordinator ผู้ประสานทั้งในและนอกโรงพยาบาลเพื่อให้รู้และรับทราบข้อมูลมะเร็งทั้งหมด 4.แอพพ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนไข้สามารถติดตามผลการรักษาได้ด้วยตนเอง

“ถึงจะมีการนำแอพพ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้เช่นกัน โรงพยาบาลจะมีข้อมูลของคนไข้ไว้อยู่แล้ว เมื่อจองคิวสำเร็จข้อมูลของคนไข้ก็จะปรากฏขึ้นที่หน้าจอโรงพยาบาลนั้นๆ คนไข้เพียงถือบัตรประชาชนก็สามารถเข้ารับบริการได้” นพ.สมศักดิ์ ยืนยัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าฟากฝ่ายผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการจะยืนยันความพร้อม 100% ในการขับเคลื่อนนโยบาย แต่ก็ยังมีข้อกังวลจากซีกของผู้รับบริการ โดย น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์Ž ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) ตั้งข้อสังเกตถึงความสับสนในการสื่อสารนโยบาย

“ผู้ป่วยมะเร็งบางส่วนยังมีความสับสนว่ารักษาได้ทุกที่คือ ทุกโรงพยาบาลใช่หรือไม่ ตนเองก็ได้อธิบายไปว่ารักษาทุกที่ก็คือทุกที่ที่มีศักยภาพและอยู่ภายใต้เขตบริการ ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปใช้บริการโรงพยาบาลชื่อดัง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนก็ยังมีความหวังว่าโรงพยาบาลชื่อดังจะต้องมีหมอที่เก่งกว่าโรงพยาบาลในเขต ส่วนตัวค่อนข้างเป็นห่วงในเรื่องความกังวลของผู้ป่วยที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการเข้ารักษา”Ž น.ส.ศิรินทิพย์ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image