วช. ชูงานวิจัยศึกษา “โรคไวรัสทิลาเปียเลค” ต้นเหตุโรคตายเดือนในปลานิล

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วช. ชูงานวิจัยศึกษา “โรคไวรัสทิลาเปียเลค” ต้นเหตุโรคตายเดือนในปลานิล

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เชิดชูผลงานวิจัยดีเด่น การศึกษา “โรคไวรัสทิลาเปียเลค” โรคไวรัสอุบัติใหม่ที่เป็นสาเหตุการตายของลูกปลานิลในช่วงหนึ่งเดือนแรก โดยพบการแพร่ระบาดทั่วประเทศไทย ทั้งตามแม่น้ำหรือแหล่งน้ำที่มีการเลี้ยงปลาอย่างหนาแน่น ซึ่งงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคอย่างยั่งยืน

ในขณะที่มนุษย์กำลังต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปลานิลและปลานิลแดงซึ่งเป็นปลาที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและมีมูลค่าการเลี้ยงสูงถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท กำลังถูกคุกคามด้วยไวรัสอุบัติใหม่ที่ชื่อว่าทิลาเปียเลค (Tilapia Lake Virus) หรือ TiLV ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปลานิลในหลายประเทศทั่วโลกเกิดการติดเชื้อ และตายเป็นจำนวนมากจนการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อ TiLV เป็นสาเหตุของการตายดังกล่าว ปัจจุบันเชื้อ TiLV มีรายงานการพบใน 16 ประเทศจาก 4 ทวีป

เชื้อไวรัส TiLV ทำให้ปลานิลที่ติดเชื้อมีอัตราการตายระหว่าง 20 – 90% โดยมีรายงานการค้นพบไวรัสดังกล่าวครั้งแรกที่อิสราเอลเมื่อปี พ.ศ. 2557 หลังจากนั้นอีก 1 ปีทีมนักวิจัยไทยนำโดย รศ.ดร.น.สพ.วิน สุรเชษฐพงษ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบไวรัสดังกล่าวมีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำที่เลี้ยงปลานิลของไทย โดยทีมวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาโรคปลานิลตายเดือนและนำมาสู่การค้นพบสาเหตุจากไวรัสชนิดใหม่นี้

Advertisement

ลักษณะของปลานิลที่ติดเชื้อไวรัส TiLV ว่ายบริเวณผิวน้ำ ตาโปน ท้องบวม หน้าแดง และไวรัสจะเข้าทำลายตับและอวัยวะภายในจนเสียหายอย่างหนัก ซึ่งนักวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในปลานิลมีการแพร่กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศไทย พบมากตามแม่น้ำหรือเขื่อนที่มีการเลี้ยงปลานิลอย่างหนาแน่น การศึกษาไวรัสชนิดนี้ได้รับความสนใจทั่วโลก รวมทั้งเริ่มมีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคเพื่อลดการแพร่ระบาดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เครือข่ายด้านสัตว์น้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรมประมง ของประเทศไทย

รศ.ดร.น.สพ.วินกล่าวว่า หลังจากพบไวรัสชนิดนี้ในเมืองไทย ทีมวิจัยจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเมื่อจำแนกไวรัสได้ก็ทำให้สามารถศึกษาวิจัยได้ในหลากหลายแง่มุม เปรียบเหมือนการค้นพบไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งมีการศึกษาในหลายๆ ด้าน เช่น ตรวจแยกไวรัส ตรวจการกลายพันธุ์ ศึกษารูปแบบการติดเชื้อ วิธีการแพร่เชื้อ ปัจจัยการก่อโรค ถือเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้ เมื่อทราบถึงการติดโรคก็นำไปสู่การป้องกันและลดการติดเชื้อได้ โดยนับจากเริ่มตีพิมพ์ผลงานวิจัยการศึกษาเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันทีมวิจัยตีพิมพ์ผลงานวิจัยระดับนานาชาติเกี่ยวกับเชื้อไวรัส TiLV จำนวน 22 เรื่อง

 

การศึกษาวิจัยโรคไวรัสทิลาเปียเลคยังได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทีมวิจัยต้องศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้เพิ่มเติม เช่น ธรรมชาติของเชื้อไวรัส ข้อมูลทางพันธุกรรม กลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการทำลายเชื้อไวรัสในปลา กระบวนการที่เชื้อไวรัสแพร่กระจายในฝูงปลา การพัฒนาวิธีตรวจโรคในห้องปฏิบัติการ การพัฒนาชุดทดสอบที่มีความสะดวกสำหรับตรวจคัดกรองโรคในภาคสนาม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค การศึกษาผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image