บัตรทอง นำร่องล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เน้นกลุ่มเด็ก-ผู้ป่วยจำเป็น

บัตรทอง นำร่องล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เน้นกลุ่มเด็ก-ผู้ป่วยจำเป็น

วันนี้ (20 มกราคม 2564) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 นอกจากบริการล้างไตผ่านเครื่องไตเทียมหรือฟอกไตแล้ว การล้างไตทางช่องท้อง (Continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD) เป็นบริการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง โดยเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มมากขึ้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับบริการล้างไตผ่านช่องท้องมากกว่า 30,000 ราย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีประมาณร้อยละ 5-10 จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปรับบริการฟอกไตที่หน่วยบริการ เนื่องจากภาวะเสื่อมสภาพของเยื่อบุช่องท้อง โดยมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าฟอกไตที่หน่วยบริการได้ ด้วยร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น เป็นอัมพาต ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น หรือมีเหตุที่ไม่สะดวก เช่น บ้านผู้ป่วยอยู่ไกลจากหน่วยบริการ ไม่มีค่าเดินทาง ซึ่งผู้ป่วยต้องรับการฟอกไตที่หน่วยบริการ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นต้น เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับริการและเสียชีวิตในที่สุด

“เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกลุ่มนี้ สปสช.ได้ดำเนินการโครงการบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated peritoneal dialysis: APD) ในปีงบประมาณ 2564 นำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ามาร่วมช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วยบัตรทอง และเป็นไปตามมติที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ให้เร่งรัดการให้บริการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ตามที่บอร์ด สปสช. ได้มีมติให้เริ่มบริการตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการฯ มีความคืบหน้าโดยเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา สปสช.ได้ประชุมร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย โรงพยาบาล (รพ.) บ้านแพ้ว ในฐานะตัวแทนหน่วยบริการที่ร่วมบริการ ตัวแทนบริษัทน้ำยาล้างไตและเครื่องล้างไตอัตโนมัติ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการวางแผนเตรียมความพร้อมการจัดบริการใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งในวันที่ 27 มกราคมนี้ จะมีการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการ และบริหารจัดการผ่านระบบออนไลน์ให้กับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เบื้องต้นในปีงบประมาณ 2564 กำหนดเป้าหมายบริการผู้ป่วยจำนวน 100 ราย ล่าสุดมีหน่วยบริการแสดงความจำนงค์เข้าร่วมให้บริการมากกว่า 50 แห่ง และผู้ป่วยผ่านเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 173 ราย และจะเริ่มทยอยให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป

Advertisement

เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ว่า แม้ว่าจะมีการใช้ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในหลายประเทศและให้ผลการรักษาที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสารน้ำและเกลือเกินในร่างกายจำนวนมาก เพราะสามารถเปลี่ยนถ่ายรอบน้ำยาล้างไตได้หลายรอบต่อวัน ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องทำได้สูงสุดเพียง 5 รอบต่อวัน แต่ด้วยเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 40,000 -50,000 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาท/คน/เดือน ส่วนต่างค่าใช้จ่ายห่างกันถึง 3-4 เท่า ดังนั้น ด้วยงบประมาณบัตรทองจำกัด การให้บริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติคงจำกัดเฉพาะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ป่วยที่ล้มเหลวต่อการรักษาด้วยวิธีล้างไตช่องท้องและไม่สามารถรับบริการฟอกไตแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ต้องทำการล้างไตช่วงกลางคืน เพื่อให้สามารถเรียนหนังสือในช่วงกลางวันที่โรงเรียนได้ โดยหลังจากดำเนินโครงการจะมีการประเมินผลการให้บริการต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image