อนุทิน เผย แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 50,000 โดส เข้าไทยต้นก.พ.นี้

อนุทิน เผย แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 50,000 โดส เข้าไทยต้นก.พ.นี้

วันนี้ (20 มกราคม 2564) เวลา 16.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังร่วมสังเกตการณ์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวันที่ สธ. ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ที่มา และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า เรื่องนี้เราไม่ได้กังวล นายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้กังวล และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาแล้ว ซึ่งขอยันยันว่าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเอาการเมืองมาเป็นประเด็น แล้วเอาสุขภาพประชาชนมาเป็นตัวประกัน แบบนี้ไม่ได้ ทำอะไรต้องมีหิริโอตปะ มีความละอายใจและเกรงกลัวต่อบาป ทั้งนี้การที่แจ้งความดำเนินคดีนั้นตนไม่ได้กังวลว่าจะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวไป เพราะเป็นการเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาพูด และเอาเบื้องสูงมาพูดในทางสาธารณะ ให้ประชาชนฟัง ซึ่งประชาชนเขาแยกแยะออก

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลว่าประชาชนจะต่อต้านวัคซีนที่นำมาใช้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่เคยเอาอะไรที่ไม่ดี สธ.ไม่มีวันเอาอะไรที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นประโยชน์มาให้กับประชาชน และตนจะเป็นคนฉีดคนแรก โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19 เป็นผู้ฉีดให้ สิ่งที่เรานำเข้ามาเราต้องมั่นใจ กว่าจะผ่านมาถึงแขนเราได้นั้น ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยมา การเอาเข้ามาฉีดให้ประชาชน แล้วเราจะไม่กล้าฉีดได้อย่างไร

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าได้คอนเฟิร์มการส่งวัคซีนโควิด-19 สำเร็จรูปล็อตที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาให้กับประเทศไทย จำนวน 150,000 โดส วันนี้คอนเฟิร์มว่า 50,000 โดสแรก จะส่งมาจากยุโรปเข้ามาในประเทศไทยต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะทยอยส่งเข้ามาในเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งจะสอดคล้องกับส่วนที่จะผลิตในประเทศไทยต่อเนื่องกัน

“ฉะนั้น ตัวที่เข้ามาตัวแรกคือแอสตร้าเซนเนก้า เพราะซิโนแวคยังรอการขึ้นทะเบียนในประเทศจีน ดังนั้นหากจะมีการฉีดเข็มแรกในประเทศไทย แนวโน้มน่าจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งก็ดีเพราะเป็นยี่ห้อเดียวกัน สูตรเดียวกันกับที่กำลังผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าล็อตที่จะนำเข้ามารวมอยู่ใน 26 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศไทยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รวมกัน ขอให้แยกอีก 150,000 โดส เพราะเราขอไป 200,000 แสนโดส เราซื้อเหมือนปกติ เมื่อถามย้ำว่าแล้วอยู่ในจำนวน 35 ล้านโดสหลังที่ได้อนุมัติงบประมาณขอซื้อเพิ่มหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า 200,000 โดส เทียบกับ 26 ล้านโดส มันไม่ใช่สาระสำคัญเท่าไหร่ เมื่อบวกไปอีก 35 ล้านโดส ก็ยังไม่พอ เพราะครอบคลุมแค่ 30 ล้านคน แต่เราต้องการฉีดให้ครอบคลุมประชากรถึง 40-50 ล้านคน ตรงนี้จึงไม่มีนัยยะสำคัญอะไร

เมื่อถามถึงราคา นายอนุทิน กล่าวว่า ราคาเท่าเดิม ตามสัญญาที่ซื้อ 26 ล้านโดส คือ 5 เหรียญสหรัฐ เราก็ยังไม่ได้คุยต่อว่า หากเราจะซื้อเพิ่มอีก แต่ยังไงเราก็มีหน้าที่เจราจาเรื่องราคา แต่อย่างไรก็ตามงบประมาณครอบคลุมอยู่แล้ว ของพวกนี้ไม่ใช่ไปซื้อของถูกที่สุด เพราะแต่ละยี่ห้อก็มีคุณสมบัติต่างกัน ผลิตจากที่ต่างกัน ที่สำคัญคือเน้นความปลอดภัยและทั่วถึงประชาชน และจะมาต้นเดือนกุมภาพันธ์ มายังไงรวมค่าส่งหรือเปล่าเป็นรายละเอียดขอให้สอบถามไปยังสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

เมื่อถามว่าเมื่อเป็นวัคซีนที่พร้อมฉีด และส่งเข้ามาในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย.จะต้องมีกระบวนการ และคิดว่าขณะนี้อยู่ขั้นสุดท้ายของการพิจารณาขึ้นทะเบียนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหรือปกติ ก็ต้องผ่าน อย.

Advertisement

ด้าน ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ขออย่างเดียวคือ ให้ฉีดในท่านั่ง และต้องสังเกตอาการหลังฉีด 15 นาทีเป็นอย่างน้อย ป้องกันการแพ้ ทั้งนี้ เมื่อดูที่จำนวนวัคซีนที่จะมีการเอามาใช้ในประเทศ และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับก่อน คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คนที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ รวมๆ 3 กลุ่มประมาณ ประมาณ 13-14 ล้านคน ดังนั้น จำนวนวัคซีนที่เอาเข้ามาก็ถือว่าเพียงพอ

“ส่วนกลุ่มอื่นที่จะได้รับเป็นลำดับถัดไป ต้องชี้แจงว่าเมื่อช่วงครึ่งปีหลังจะมีวัคซีนทยอยสำเร็จออกมา ดังนั้น เราสามารถเลือกได้ ว่าจะเอาตัวไหนต่อจากนี้ และในการขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้ใช้แค่ประเทศเราประเทศเดียว ไม่ว่าจะซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า มีการใช้ทั่วโลก แต่ตอนนี้ถึงเราสั่งเยอะ ก็เชื่อว่ายาก เพราะทุกคนแย่งกันหมด จริงๆ ไม่ใช่เราไปฉีดคนแรก เขาทดลองในหลักหมื่นคนแล้ว แต่วัคซีนมีหลายชนิด หากเป็น mRNA วัคซีนใหม่สุด แต่ถ้าเป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) ยังเคยใช้ในคนบ้าง เช่น วัคซีนอีโบลา แต่วัคซีนเชื้อตายฉีดกันทั่วไป เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ จึงมีความปลอดภัย” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ในการผลิตวัคซีนจะมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ กลุ่มที่ 1 วัคซีน mRNA คือการจำลอง RNA ของไวรัส นำเขาร่างกายเพื่อสร้างโปรตีนที่เหมือนกับหนามแหลมของไวรัส และให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ใช้กันคือวัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งโรงงานผลิตวัคซีนจริงๆ คือเซลล์มนุษย์ที่ได้รับวัคซีน เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีการใช้ในมนุษย์มาก่อน กลุ่มที่ 2 ไวรัลเวกเตอร์วัคซีน การนำทำหมันไวรัส ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อเข้าสู่เซลล์ โดยวัคซีนชนิดนี้เคยมีการใช้ในมนุษย์มาก่อนพอสมควรคือวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา เป็นเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า และกลุ่มที่ 3 วัคซีนเชื้อตาย ถูกนำมาใช้กว่า 70 ปี เช่น โปลิโอ พิษสุนัขบ้า วัคซีนนี้เกิดจากการเพาะเลี้ยงไวรัสเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นทำให้ไวรัสตาย และใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน และฉีดให้กับร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ดังนั้นวัคซีนเชื้อตายจะต้องให้หลายครั้ง ข้อเสียคือการผลิต การเพาะเลี้ยงจำนวนมากภายในห้องชีวนิรภัย ใช้งบประมาณสูงจึงไม่สามารถลดราคาวัคซีนได้

“ประเทศไทยขณะนี้ได้เลือกวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในจำนวนมากในโรงงานได้ ต่อไปจะมีราคาถูกสามารถใช้ได้ทั่วโลก และตัวที่ 2 คือวัคซีนเชื้อตายเป็นเราเคยใช้กันอยู่ แต่หากจะสั่งเยอะ คงหาไม่ได้ เพราะวิธีการผลิตพันล้านโดสเป็นเรื่องยาก และอาจเป็นไปได้ในร้อยล้านโดส” ศ.นพ.ยง กล่าว

ล่าสุด เวลา 17.40 น. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขณะนี้ ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ก็ยังอยู่ระหว่างการรอเอกสาร แต่เชื่อว่าจะทันกำหนด ก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้แน่นอน เพราะตามกำหนดระยะเวลาที่จะให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม คือ ภายใน 30 วัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image