ผู้เชี่ยวชาญชี้บัตรทองเพิ่มสิทธิยาไวรัสตับซี ลดขั้นตอนคัดกรอง-รักษาได้กว้างขึ้น

แฟ้มภาพ
ผู้เชี่ยวชาญชี้บัตรทองเพิ่มสิทธิยาไวรัสตับซี ลดขั้นตอนคัดกรอง-รักษาได้กว้างขึ้น

หลังจากที่คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติได้มีมติบรรจุยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Direct Acting Antiviral: HCV DAA) ได้ทุกสายพันธุ์เข้ารายการบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบเพิ่มยาสูตรดังกล่าวอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวในวงเสวนาออนไลน์หัวข้อ “การตรวจคัดกรองและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ ซี มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไต่อันดับจากอันดับ 10 มาอยู่อันดับ 7 แซงหน้าโรคติดเชื้ออย่างเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย การที่ยารักษาโรคดังกล่าวได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นยาสูตรผสมที่สามารถได้ทุกสายพันธุ์ และมีอัตราการรักษาหายร้อยละ 95 คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยลดความยุ่งยากในการตรวจคัดกรอง

“โดยไกด์ไลน์การตรวจคัดกรองและรักษาไวรัสตับอักเสบซีฉบับใหม่ จะเริ่มต้นจากการตรวจหา Anti HCV ซึ่งถ้าพบเชื้อ ขั้นต่อไปคือ การตรวจปริมาณไวรัสเพื่อดูความรุนแรงของโรคโดยใช้ APRI Score หรือ FIB-4 Score เป็นตัววัด หากมีปริมาณไวรัสมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีอาการรุนแรงก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เลย ซึ่งลดความยุ่งยากลงมาก ไม่ต้องทำไฟโบรสแกน ทำให้การรักษาทำได้กว้างขึ้น อายุรแพทย์ก็รักษาได้ หรือถ้าเป็นแพทย์ทั่วไปต้องผ่านการทำงานมา 5 ปี และผ่านการรับรองจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่ถ้าหากในอนาคตมีระบบที่สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ เช่น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่านเทเลเฮลท์ (Telehealth) ก็จะขยายขอบเขตการรักษาได้มากขึ้นไปอีก” นพ.พิสิฐ กล่าว

ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นมะเร็งตับถึงร้อยละ 90 เป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสตับอักเสบ ซี ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ในระยะเวลาเพียง 10 ปี และเมื่อแสดงอาการแล้วก็จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

Advertisement

“ประมาณการจำนวนคนไทยที่ติดไวรัสตับอักเสบ ซี อยู่ที่ 400,000 คน ซึ่งหากมีร้อยละ 20 ที่พัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าปีละ 80,000 ราย ปัจจุบันมีกลุ่มเสี่ยงสูง 7-8 กลุ่ม เช่น ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสารเสพติด แต่การคัดกรองยังทำได้เพียงบางกลุ่ม ดังนั้นในขั้นแรกจะต้องขยายการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงให้ครบทุกกลุ่มให้ได้ 100% ทุกจังหวัด” นพ.ปรีชา กล่าวและว่า สธ.จะร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรองดูว่าในกลุ่มประชากรทั่วไปมีอัตราการติดเชื้อเท่าใด เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ร้อยละ 1 ในกลุ่มประชากรทั่วไป เมื่อตรวจคัดกรองพบก็จะได้นำเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาดต่อไป

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงแรกของระบบหลักประกันสุขภาพ ใครที่ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ได้แต่รักษาแบบประคับประคองเพราะยาราคาแพงมาก เม็ดละ 30,000 บาท รักษาให้จบคอร์สต้องกินต่อเนื่อง 3 เดือน หรือใช้เงินกว่า 2 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถต่อรองได้จนราคาเม็ดละ 280 บาท รักษาได้ทุกสายพันธุ์ ประสิทธิภาพการรักษามากกว่าร้อยละ 90

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image