แพทย์ย้ำวัคซีนโควิด-19 ไทยเลือกความปลอดภัย ขอ ปชช.ร่วมกันฉีดช่วยชาติ

แพทย์ย้ำวัคซีนโควิด-19 ไทยเลือกความปลอดภัย ขอ ปชช.ร่วมกันฉีดช่วยชาติ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เชื้อโควิด-19 หากอยู่ในอากาศอุณหภูมิ 25 องศาเซสเซียส โดยไม่มีเสมหะ หรือน้ำลายห่อหุ้มเซลล์ จะสลายไปภายในไม่กี่นาที แต่หากมีสิ่งห่อหุ้มอาจอยู่ได้นานถึง 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถแบ่งเซลล์ได้ เนื่องจากไวรัสจะเพิ่มจำนวนได้ต่อเมื่อเข้าไปในสิ่งมีชีวิตและแพร่กระจายออกไป

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การจำลองภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเชื้อโควิด-19 (Herd Immunity) หากมีคนจำนวนหนึ่งอยู่รวมกันในชุมชน ทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค บางส่วนสวมหน้ากากอนามัย และกลุ่มผู้ที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยก็สามารถรับเชื้อได้ บางรายเสียชีวิตระหว่างการรับเชื้อ แต่โดยธรรมชาติของโควิด-19 ผู้ที่รับเชื้อแล้วไม่เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ 2 ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้น ขณะที่ไวรัสยังอยู่ในชุมชนก็จะทำให้มีการติดเชื้อในกลุ่มใหม่ๆ ได้ และในกลุ่มก็จะเกิดในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มแรก คือ บางรายเสียชีวิต และผู้ที่ไม่เสียชีวิตก็จะมีภูมิคุ้มกันขึ้น

“สุดท้ายก็จะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่มากในชุมชน มีบางคนที่ยังป้องกันตัวเอง ไม่ติดเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่สิ่งสำคัญคือ คนในชุมชนบางรายก็หายไปเพราะเสียชีวิต หมายถึงการแลกมาซึ่งภูมิคุ้มกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า หากจำลองสถานการณ์ใหม่ คือ คนส่วนใหญ่ในชุมชนมีภูมิคุ้มกัน มีบางส่วนที่ป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อและส่วนน้อยที่ไม่มีภูมิฯ แล้วไม่ได้ป้องกันตัวเอง ก็เกิดติดเชื้อและเสียชีวิต แต่คนที่เหลือจะมีภูมิคุ้มกันหมด ดังนั้น ไวรัสในอากาศจะไม่สามารถเข้าร่างกายได้ เพราะแต่ละคนมีภูมิฯ ตัวไวรัสจะสลายไปในที่สุด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่มีการพูดว่า หากสัดส่วนคนในประเทศใดประเทศหนึ่งมีจำนวนมากพอ จะทำให้ไวรัสไม่สามารถอยู่ในพื้นที่นั้นได้ และจะสลายไปในที่สุด สำหรับโควิด-19 ยังไม่ตัวเลขชัดเจน เพราะเป็นโรคใหม่ บางโรคในอดีต เช่น หัด สัดส่วนคนที่ต้องมีภูมิฯ ในประเทศคือ ร้อยละ 95 โรคหัดจะหายไปจากประเทศ เป็นโอกาสที่น้อย ถึงยังต้องมีการฉีดวัคซีนตลอด

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มี 2 วิธีในการสร้างภูมิฯ คือ 1.เกิดจากการติดเชื้อ สิ่งที่แลกมาคือ การเสียชีวิต และ 2.การฉีดวัคซีน โดยโควิด-19 มีการคาดประมาณว่าร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ ก็น่าจะทำให้ไวรัสหายไป เพราะเมื่อคนมีภูมิฯ เยอะไวรัสเข้าคนไม่ได้ ไม่นานก็จะหายไป และหากหายไปถาวรจริงๆ จึงสามารถเลิกสวมหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งบางคนเข้าใจว่า ฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิฯ ก็ถอดหน้ากากเลย

“อันนี้อันตรายจริงๆ และในต่างประเทศที่ฉีดไปแล้ว ย้ำเรื่องนี้มาก ข้อมูลนี้ต้องการจำลองสถานการณ์ หากคนไทยช่วยกันฉีดวัคซีน เบ็ดเสร็จคือ เราช่วยชาติ เพราะทันทีที่คนไทยมีภูมิคุ้มกันมากพอ โควิด-19 ก็อยู่ไม่ได้ในประเทศ บางคนกลัวตายจากไวรัส แต่บางคนก็กลัวตายจากวัคซีน ฉะนั้นวิธีที่เลือกวัคซีนต้องเน้น 1.ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่มีใครอยากตายจากไวรัส และไม่มีใครอยากตายเพราะวัคซีน และ 2.ประสิทธิภาพ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลทั่วโลก ล่าสุด วันที่ 14 มกราคม มี 20 บริษัทวัคซีนที่ผ่านเข้าสู่ระยะที่ 3 การศึกษาในคนอย่างน้อย 30,000 คน เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ และปัจจุบันมีวัคซีนการผลิตอยู่ 4 เทคโนโลยี คือ 1.เทคโนโลยี mRNA จากสหรัฐอเมริกา ที่ไทยไม่ได้นำเข้ามา ยังไม่เคยมีใครนำเทคโนโลยีนี้มาผลิตวัคซีน

“นี่จึงเป็นครั้งแรก แม้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสูงสุดถึงร้อยละ 95 แต่ไม่จำเป็น เพราะร้อยละ 50-60 ก็เพียงพอ อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 50-60 เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ รับวัคซีนแล้วต้องทำให้โรคไม่รุนแรงและไม่เสียชีวิต อันนี้คือเป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่การไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้ด้วย และในทางทฤษฎียังมีโอกาสก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว แต่ยังไม่มีหลักฐานในขณะนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะที่วัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า หลักการวัคซีนตัวนี้ คือ เอาไวรัสตัวหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในคน และเอาพันธุกรรมของโควิด-19 ที่สร้างโปรตีน (สไปรท์โปรตีน) จนเกิดการแพร่ระบาดเยอะๆ เข้าไปแตะกับไวรัสตัวนี้และเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งภูมิคุ้มกันตัวเราจะพบว่าไวรัสตัวนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม และจดจำว่านี่คือเชื้อโรค เมื่อจำได้ภูมิคุ้มกันในตัวเราก็จะกำจัดไวรัสพวกนี้ ดังนั้น ชนิดนี้จึงมีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 90 โดยทั้งหมดต้องฉีด 2 ครั้ง แต่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้เอาโควิด-19 มาทำ จึงทำให้ราคาไม่แพง ขณะนี้ในไทยได้ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 โดส ทั้งนี้ โดยทฤษฎีไม่ได้ใส่ไวรัสเข้าไป โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการแพ้ก็น่าจะน้อย ซึ่งผลการศึกษาระหว่างทดสอบระยะ 1 2 และ 3 พบบ้าง 2-3 กรณี แต่สุดท้ายไม่เกี่ยวกับวัคซีน ก็ถือว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้มีบริษัทอื่น เช่น รัสเซีย ด้วย แต่ไทยไม่ได้เอาเข้ามา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า มีอีกตัวที่ไทยนำเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ คือ ซิโนแวค เพราะแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค เป็นการใช้เทคโนโลยีที่นำเชื้อโควิด และทำให้อ่อนแรงลง จนไม่สามารถทำอันตรายได้ และนำเข้าร่างกายเรา จนภูมิฯ ของเราจดจำเชื้อไวรัสนี้ และเมื่อเชื้อเข้ามาก็จะไปจัดการ เป็นเทคโนโลยีเดิม แต่มีราคาสูง เพราะต้องไปจัดการเชื้อให้อ่อนแรงไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งได้ผลประมาณร้อยละ 50 ที่เพียงพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกัน เป็นเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปลอดภัยมาก เพราะรู้จักมานาน

“วัคซีน 2 ตัวนี้ ทั้งจากแอสตร้าฯ และ ซิโนแวค จะนำเข้ามาในประเทศไทย และเมื่อเข้ามาและทุกคนฉีดก็จะครอบคลุมประมาณ ร้อยละ 50-60 ของคนไทย บวกกับคนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้ว และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งน่าจะมีประมาณ ร้อยละ 60-70 รวมแล้ว น่าจะถึงตัวเลขที่อาจทำให้โควิด-19 ถูกกำจัดโดยปริยาย นี่คือ เหตุผลของการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยชาติ จึงอยากให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และนี่ถือว่าโชคดีอย่างคือ เราไม่ได้เห่อเทคโนโลยีจนเอาแต่ตัวใหม่เท่านั้น แต่ 2 ตัวนี้ที่จะเอาเข้ามาถือว่าปลอดภัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า แต่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของเรานานมาก อาจอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ก็อาจต้องฉีดปีละครั้ง แต่ยังสรุปไม่ได้ ณ เวลานี้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนช่วยชาติ แต่ทำไมต้องเป็นไปตามความสมัครใจว่า วัคซีนแต่ละตัวจะบอกว่า ปลอดภัย 100% คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้อยากบังคับ แต่อยากเชิญชวนให้ฉีด เพราะวัคซีน 2 ตัวนี้ปลอดภัย หากมีผลข้างเคียง ก็ไม่มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image