กทม.ห่วงนั่งร้าน เดินห้าง จัดเลี้ยงแพร่โควิด-19 กำชับเขตเข้มตรวจ-แนะสถานประกอบการ

ศบค.กทม.ห่วงนั่งร้าน เดินห้าง จัดเลี้ยงแพร่โควิด-19 กำชับเขตเข้มตรวจ-แนะสถานประกอบการ

วันนี้ (26 มกราคม 2564) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 14/2564 ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า)

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งการรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับแจ้งจากการระบาดรอบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – ปัจจุบัน แยกตามความเสี่ยง พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้มีจำนวนมากที่สุด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การติดเชื้อจากการไปยังสถานที่ชุมนุมคน อาทิ ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดงานเลี้ยงต่างๆ ปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อมากขึ้น

“ศบค.กทม.จึงขอให้สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจแนะนำสถานที่ชุมนุมคนดังกล่าว เพื่อให้เจ้าของสถานที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เข้าไปยังสถานที่ดังกล่าว ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจล รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เป็นต้น รวมทั้งขอให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจแนะนำร้านอาหาร สถานประกอบการจำหน่ายอาหาร งดการนั่งรับประทานอาหารในร้านหลังเวลา 21.00 น. อย่างเด็ดขาด” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการเรียนการสอน พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า คาดว่าอาจเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ ศบค.กทม.ขอนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคโควิด-19 ในโรงเรียน หรือสถานศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ขอให้ผู้ปกครองทำการคัดกรองบุตรหลานก่อนไปโรงเรียนหากพบ บุตรหลานมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการร่วมกัน น้ำมูก + ไอ หรือมีผื่น หรือแผลในปาก หรือตุ่มที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหรือตามร่างกาย หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือมูกเลือด 1 ครั้ง หรือมีอาการตาแดงและขี้ตามาก ขอให้อยู่บ้านหรือ นำพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา หรือแจ้งโรงเรียนเพื่อประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่คัดกรองเบื้องต้น

Advertisement

2.ครูทำการคัดกรองเด็กนักเรียน “ก่อนเข้าโรงเรียน” หากพบนักเรียนมีอาการข้างต้น ขอให้ผู้ปกครองพากลับบ้านหรือพาไปพบแพทย์

3.ระหว่างวันขอให้ครูประจำชั้น/ครูผู้สอน สังเกตอาการ หากพบนักเรียนมีอาการข้างต้น ให้แยกเด็กที่มีอาการออกจากกลุ่มเด็กปกติ ติดต่อให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน และแนะนำให้ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์

“สำหรับการค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง (ACTIVE CASE FINDING / Sentinel Surveillance) โดยเฉพาะในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มแรก ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม เขตบางบอน เขตบางแค และเขตจอมทอง ซึ่งกำหนดสุ่มตรวจทุก 3 เดือน ครั้งที่ 1 เดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ ครั้งที่ 2 เดือนเมษายน – พฤษภาคม ครั้งที่ 3 เดือนสิงหาคม-กันยายน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image