ต่างด้าว 3 สัญชาติ แห่ลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านครึ่งทางกว่า 2.5 แสนคน
เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ กระทรวงแรงงาน ได้แก้ปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว โดยบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ได้อยู่และทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงานและสามารถตรวจสอบควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลตอบรับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก มีผู้ลงทะเบียนประมาณวันละกว่า 15,000 คน
“ขอย้ำเตือนแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่แจ้งบัญชีรายชื่อให้รีบดำเนินการยื่นบัญชีฯ ผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางอิเล็กทรอนิกส์ https://e-workpermit.doe.go.th ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 มีคนต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 251,755 คน แบ่งเป็น กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 62,415 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 236,223 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 142,932 คน กัมพูชา 67,945 คน และลาว 25,346 คน และกรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง โดยคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลด้วยตนเอง จำนวน 17,882 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 9,671 คน กัมพูชา 6,904 คน และลาว 1,307 คน
“ตามที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เห็นชอบการทบทวนแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง ที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว เข้าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่สธ.กำหนด ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564” อธิบดี กกจ.กล่าว
นายสุชาติ กล่าวว่า ส่วนการตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม 6 โรค และประกันสุขภาพ หากมีเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด–19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564 พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด-19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้ กกจ.ออกใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองผลว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัว คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564
“ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยุ่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565” นายสุชาติ กล่าว