กทม.เพิ่มขั้นตอนตรวจสอบ ก่อนเผยแพร่ไทม์ไลน์ เน้นถูกต้อง-รวดเร็ว ให้ ปชช.ป้องกันตนเองทันเวลา

กทม.เพิ่มขั้นตอนตรวจสอบก่อนเผยแพร่ไทม์ไลน์ เน้นความถูกต้องรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และป้องกันตนเองได้ทันเวลา

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชี้แจงขั้นตอนการจัดทำไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะใช้ข้อมูลจากสถานพยาบาล ประกอบจากการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อและจากข้อมูลการสอบสวนโรค แล้วจัดทำเป็นชุดข้อมูล เพื่อเสนอคณะทำงานพิจารณา แล้วจึงจัดทำเป็นไทม์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ

นางป่านฤดีกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดทำไทม์ไลน์จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และป้องกันตนเองได้ทันเวลา ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มคนที่มีกิจกรรมบางอย่างร่วมกันที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกัน หรือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงทำให้ต้องจัดทีมผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและอาจไม่มีความชำนาญในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการรายงานสถานที่ ดังเช่นกรณีการระบุไทม์ไลน์ถึงร้านไอศครีม iberry ผิดสาขา โดยจากข้อมูลที่ผู้ป่วยทั้ง 2 รายแจ้งว่าไปร้านโรงสีโภชนา เขตสาทร รายงานเป็นร้านโรงสีโภชนา แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 1 และร้านโรงสีโภชนา เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 2

นางป่านฤดีกล่าวว่า ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอรับข้อแนะนำเพื่อทบทวนกระบวนการจัดทำไทม์ไลน์ โดยจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและสถานที่จากผู้ป่วยและพื้นที่ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และสอบถามกลับไปยังผู้ป่วยอีกครั้งก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนในครั้งต่อไป

Advertisement

“สำหรับขั้นตอนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครได้เข้าพื้นที่สถานประกอบการเพื่อชี้แจงมาตรการการป้องกันโรคที่ต้องปฏิบัติ ประกอบด้วย การวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนเข้าร้าน โดยจัดให้มีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ มีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณผิวสัมผัส เช่น ลูกบิดห้องน้ำ ลูกบิดประตู พื้นที่นั่งทานอาหาร วันละไม่ต่ำกว่า 4 รอบ ซึ่งทางร้านอาหารได้ปิดทำความสะอาดและดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่แนะนำเรียบร้อยแล้ว

“นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหาเชื้อผู้ทำงานภายในร้านอาหารและหากพบผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง จะนำเข้าสู่การกักตัว เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เข้าไปตรวจสอบร้านอาหารโรงสีโภชนาทุกสาขา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ามีความปลอดภัยและไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ โดยจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ในช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการในสถานที่แห่งนั้นต่อไป” นางป่านฤดีกล่าว

นางป่านฤดีกล่าวว่าด้วยว่า กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 ตามที่ภาครัฐกำหนด รวมถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ ตามหลัก D-M-H-T-T (D : Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน M : Mask Wearing คือ สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing คือ ล้างมือบ่อยๆ T : Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ทุกครั้ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่างๆ) และหากท่านเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้แจ้งข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้อง กับเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การสอบสวนโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็วและสามารถหาผู้สัมผัสเชื้อได้มากที่สุดสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันสถานการณ์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image