‘สาธิต’ ยันไทยเดินมาถูกทาง มั่นใจคุม ‘โควิด’ ได้ แต่ไม่อยากให้เสพติดเลข 0 ย้ำทุกมาตรการต้องคงเดิม ควบคู่ฉีดวัคซีน

‘สาธิต’ ยัน ไทยเดินมาถูกทาง มั่นใจคุม ‘โควิด’ ได้ แต่ไม่อยากให้เสพติดเลข 0 ย้ำทุกมาตรการต้องคงเดิม ควบคู่ฉีดวัคซีน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสำนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ซึ่งสามารถติดตามรับฟังได้ทางเฟซบุ๊กในเครือมติชน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ จากนั้นมีการเสวนา โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้าร่วม ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยสถานการณ์ขณะนี้ ตนประกาศต่อสาธารณะไปแล้วว่า ใน 5 จังหวัดควบคุมสูงสุด สามารถควบคุมได้ ทั้ง 8 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 6 มีตัวเลขเป็น 0 มา 3 วัน ยังไม่รวมวันนี้ ในการตรวจเชิงรุกที่ทำในกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เสี่ยง ทั้งเขตสุขภาพที่ 6 ดำเนินการแล้ว 100,000 เคส

“ในสถานการณ์ของเขตควบคุมสูงสุด เรามาช้า เราตามไล่หลังในการสอบสวนโรค เพราะฉะนั้น รายงานล่าสุด ขณะนี้เราตามผู้ที่มีสัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีความเสี่ยง ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ใน 2 จังหวัด คือ จันทบุรี และตราด ส่วนอีก 6 จังหวัด ดำเนินการไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งการตรวจเชิงรุก และตัวเลขที่เราติดตามกลุ่มเสี่ยงได้ รวมถึงการสร้างทีมป้องกันโรคติดต่อในจังหวัดนั้นๆ กรณีติดตามเคสซึ่งขออนุญาตใช้คำว่า สะเก็ดไฟเพื่อให้เห็นภาพ นักดับเพลิงซึ่งเป็นผู้สอบสวนโรคต้องเข้าไปให้ได้ภายใน 48 ชม. ผมมั่นใจว่าเราควบคุมได้แล้วในสถานการณ์นี้ แต่ก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น” นายสาธิตกล่าว

Advertisement

นายสาธิตกล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการต่างๆ ต้องวางแผนให้ดี ทุกการตรวจเชิงรุก ต้องใช้เงิบงบประมาณราว 2,000-3,000 บาทต่อเคส เพราะฉะนั้น ในการตรวจเชิงรุก ต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้เราใช้เทคโนโลยีที่เชื่อถือได้

ขณะนี้สมมุติว่า เมื่อเราพบว่าผู้ใช้แรงงานทีความเสี่ยง แทนที่เราจะไปสุ่มตรวจทุกคนทั้งหมด เราใช้วิธีนำน้ำลาย 5 คน มาตรวจ หรือกรณีที่เราไปตรวจในบ่อน้ำทิ้งในชุมชนโรงงาน แล้วพบว่าเป็นบวก จึงค่อยไปตรวจในลักษณะใช้งบประมาณเป็นรายเคส การดำเนินการเช่นนั้เหมาะกับพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ถ้าตรวจทุกคนจะใช้งบเยอะมาก ซึ่งเราก็หมดไปเยอะแล้ว วันนี้การตรวจเชิงรุก ยังเน้นไปที่โรงเรียนเพราะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่มาก ถ้ามีการแพร่ระบาดจะกระจายไปสู่ครอบครัว และชุมชนซึ่งในขณะนี้ยังไม่พบ กรณีผู้ติดเชื้อซึ่งมีการสอบสวนโรคกลับไป 99 เปอร์เซ็นต์พบต้นตอได้ทั้งหมด มีบางเคสเท่านั้นที่ไม่สามารถหาต้นตอได้

“สำหรับความคาดหวังให้เป็นศูนย์นั้น เรื่องเลขศูนย์ไม่ใช่สิ่งที่อยากให้ประชาชนมอง ไม่อยากให้เสพติดกับเลข 0 ต้องย้ำว่าทุกมาตรการ ยังคงไว้เหมือนเดิมจนกว่าการแพร่ระบาดจะลดลง ทุกมาตรการจะดำเนินการไปพร้อมกัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนไปด้วย ที่เราบอกประชาชนว่า มั่นใจว่าควบคุมได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็น 0 แต่ต้องหาต้นตอให้ได้ว่า จากการติดในคลัสเตอร์ใหม่ รวมถึงคลัสเตอร์เดิม มีต้นตอมาจากที่ไหน นอกจากนี้ ถ้าติดเชื้อมาจากพื้นที่ใด จะต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรคเข้าไป และสอบสวนให้ทันกับสถานการณ์ นำผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดมากักตัวให้ได้ ขอย้ำว่านี่คือมาตรการขั้นต้นในการสอบสวน ควบคุม กักกันไม่ให้แพร่ระบาด และเรามีหน้าที่ดูแลตั้งแต่หลังการติดเชื้อ พาไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ว่ามีอาการหรือไม่ โดยเคสที่มีอาการหนักประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องได้รับการรักษาที่ดีจากโรงพยาบาล หากไม่เพียงพอ จะมีโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ที่ไม่มีอาการจำนวนมากไปอยู่รวมกันและควบคุมโรคให้อยู่ตรงนั้น” นายสาธิตกล่าว

Advertisement

สำหรับประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นายสาธิตกล่าวว่า หากพูดถึงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในแง่ของการใช้งบประมาณ กองทุนประกันสังคมเป็นเรื่องของการบริหารกองทุนที่จะไปดูแลในส่วนของคนว่างงาน มีการตีความในเรื่องของการทุจริตว่าชดเชยได้หรือไม่ แต่ในทุกมุมต้องพิจารณาให้ดี โดยสถานการณ์ของโรคโควิด สร้างนิวนอร์มอลใหม่หลายเรื่อง ถ้าสถาบันวัคซีนซึ่งเป็นความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจเองตามกฎหมาย ที่จะสามารถใช้เงินเพื่อให้ดำเนินการต่างๆ ให้รวดเร็วทันสถานการณ์ สมมุติว่าไปจองวัคซีนให้ได้ไว้ก่อน หากสูญเสียไปก็ไม่เป็นไร กรณีอย่างนี้ ถ้าเป็นอำนาจตามกฎหมาย สถาบันวัคซีนทำงานง่ายขึ้น แต่อย่าลืมว่า ในอีกหลายมุมก็เป็นความยากของการต้องมีความรับผิดชอบในทางกฎหมายและแง่การเมือง

“ส่วนระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเอง ในเรื่องความฉับไว ทะลวงปัญหา หากสังคมได้ตกผลึกร่วมกัน ว่าถ้าจะมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อความรวดเร็วมากขึ้น แต่ต้องตรวจสอบได้ ไม่ทุจริต ก็สามารถทำได้ ฝ่ายกฎหมายต้องไปแก้ กฎหมายในประเทศไทยมีเยอะมาก และออกเพิ่มทุกปี ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ 100 % เพราะฉะนั้นยังเป็นปัญหาอยู่

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดเป็นเรื่องต้องถอดบทเรียนว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สู้โรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ในแง่ธุรกิจผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในเงื่อนไขที่มีทรัพยากรไม่จำกัด กับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด และมีความรอบคอบ เทียบกันไม่ได้” นายสาธิตกล่าว

นายสาธิตกล่าวว่า ถ้าพูดถึงโควิด 19 จะพูดถึงประเทศไทยอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องพูดถึงสถานการณ์โลกด้วย การจัดการสถานการณ์โควิดในโลก มีความแตกต่างกัน ในแง่ของมาตรการป้องกัน ขึ้นกับผู้นำแต่ละประเทศจะยึดหลักการบริหารจัดการแบบไหน อย่างไร อาทิ ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นด้วยความแหลมคมว่าอาจป้องกันกลุ่มเสี่ยงไว้ โดยยังไม่ต้องล็อกดาวน์ ซึ่งอาจเป็นไปด้วยแนวคิดที่ว่า หากมีคนติดเชื้อ อาจมีภูมิคุ้มกัน ไม่กระทบเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยเดินหน้าควบคุมให้ได้มากที่สุด ให้มีการติดเชื้อให้น้อยที่สุด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เราอาจมีผลกระทบในช่วงเริ่มต้นในรอบแรกในช่วงล็อกดาวน์ แต่รัฐบาลได้มีการเยียวยา จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา

“ช่วงนั้น ตัวเลขของไทยเป็น 0 มานานมาก แต่เรารู้ว่าธรรมชาติของโรคระบาดคือไม่สามารถหยุดยั้งการหลุดรอดของช่องทางธรรมชาติกับเพื่อนบ้านได้ แต่เราอาจประมาทไปเล็กน้อย จึงทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ การประเมินสถานการณ์ที่จะไปสู่ขั้นสูงสุด อาจจะพูดยาก แต่คงต้องดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อไป ในขณะเดียวกันต้องปิดช่องทางต่างๆที่จะก่อให้เกิดการระบาด และมีการค่อยๆฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า วัคซีนที่ได้มากี่ล้านโดสจะสามารถฉีดได้ทั้งหมด การกระจายวัคซีนที่มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาต้องมีการวางแผน เดิมคิดว่าจะสามารถฉีดใน รพ.สต.ได้ แต่ก็ต้องเปลี่ยนไปฉีดที่ รพ.ชุมชน เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจว่าเมื่อฉีดเสร็จจะเป็นอย่างไร ต้องรอ 15-30 นาที หากมีผลข้างเคียง ต้องเข้าสู่การรักษาทันที ขณะนี้กำลังคำนวณว่า สมมุติว่าใน 1 วัน รพ.ชุมชนฉีดได้ 300 แต่ รพ.ใหญ่ฉีดได้ 600 เพราะฉะนั้น ต่อวัน ต่อเดือน จะสามารถฉีดได้เท่าไหร่ในแต่ละกลุ่ม โดยเปิดให้มีการลงทะเบียนก่อน ซึ่งมีการสำรวจอยู่ แต่ตัวเลขยังไม่สรุป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำใน ครม.ว่า น่าจะมีการทำตัวเลขนี้” นายสาธิตกล่าว

นายสาธิตกล่าวว่า โดยสถานการณ์คิดว่า หากไทยสามารถดำเนินมาตรการป้องกัน และทำความเข้าใจในโควิด ควบคุมโรคให้มีการติดเชื้อให้น้อยที่สุด ควบคุมทุกระลอกที่จะเกิดขึ้นให้ได้ และฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน จะสามารถสู้กับโควิด-19 ได้เสร็จ และรวดเร็วกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าพูดถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนได้จำนวนมากแต่ประชากรจำนวนมากกว่าไทยอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็สูงด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อได้เปรียบคือ เป็นประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่าไทย แต่ไทยประชากรน้อยกว่า ทรัพยากรน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยการวางแผน จำนวนเริ่มต้น 13 ล้านโดส ตัดกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องฉีดออกไป การบริหารจัดการที่จะเกิดขึ้นคิดว่าใช้เวลาอย่างช้า 1 ปีครึ่งจากนี้ไป อย่างไรก็ตาม ไทยฉีดวัคซีนแล้วจบ เพราะโรคระบาดไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน เช่น ถ้ากัมพูชาโควิดยังระบาด ก็ต้องป้องกันต่อไป

“กรอบคิดที่รัฐบาลดำเนินมาในแนวทางที่มีการจัดการอย่างเหมาะสม เช่น จอง 13 ล้านโดสแรก หลังจากนี้ เมื่อเวลาทอดยาวออกไป อีกหลายบริษัท ตลาดจะเป็นของผู้ซื้อ อาจมีการแข่งขัน ลดราคาวัคซีน แล้ววันนี้จะเห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนใกล้เคียงกัน แต่หลายประเทศฉีดไปได้เยอะแล้ว หลายบริษัทฉีดวัคซีนสำเร็จ เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปทุ่มบนความไม่แน่นอนตั้งแต่แรก ตั้งแต่เราเลือกจัดการและบริหารสถานการณ์การผลิตวัคซีนกับสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดไปในขณะเดียวกัน และใช้เงินที่มีอย่างเหมาะสม ป้องกันการใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่าย รวมถึงได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เราเดินมาทางนี้ มีความเหมาะสมแล้ว” นายสาธิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image