ฮูชี้แค่ 2 ดริงก์ ก็ขาดสติ ศบค.ย้ำร้านอาหารชงมาตรการรัดกุม คุมนักดื่มให้ได้

ฮูชี้แค่ 2 ดริงก์ ก็ขาดสติ ศบค.ย้ำร้านอาหารชงมาตรการรัดกุม คุมนักดื่มให้ได้

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า การค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.สมุทสาคร ยังพบตัวเลขเพิ่มขึ้นเกิดจากการกระชับพื้นที่เข้าสู่พื้นที่ไข่แดง ขณะนี้มีมาตรการบับเบิ้ล แอนด์ ซีล (Bubble and Seal) ปิดผนึกใน 1 โรงงาน ที่มีศักยภาพจัดที่พักให้คนงาน ทำงานและอาศัยอยู่ภายใน ไม่ต้องเดินทางออกจากนอกโรงงาน

“ทั้งนี้ โรงงานที่ไม่สามารถจัดให้พักค้างในโรงงานได้ จะมีมาตรการบับเบิ้ล (Bubble) ใน 7 โรงงาน ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.ท่าทราย และ ต.นาดี ที่เป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษ ตั้งแต่วัดพันธุวงษ์ สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และซอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง โดยทางจังหวัดรายงานว่า ส่วนหนึ่งจัดที่พักให้พนักงานตามมาตรฐานเพื่อลดการแพร่เชื้อ ขณะที่เดินทางไปทำงาน ทางจังหวัดประสานพื้นที่และเจ้าของโรงงาน จัดรถรับส่งที่มีมาตรฐานป้องกันแพร่เชื้อ ระหว่างเดินทางจะไม่แวะที่ไหน หากจำเป็นต้องเดินเท้า ก็จะเว้นระยะห่าง” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือกับชุมชน หากพบรถพนักงาน หรือการเดินเป็นแนวแถวตามมาตรการบับเบิ้ล อย่ารังเกียจหรือกล่าวโทษ ต้องให้กำลังใจกัน เพราะทุกคนกำลังลดการแพร่เชื้อและติดเชื้อ ทั้งนี้ การคัดกรองใน จ.สมุทสาคร ยังต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่าตัวเลขจะเป็นศูนย์ แต่เราต้องการเห็นมาตรการเข้มข้น เพื่อให้พบผู้ติดเชื้อ ไม่ให้แพร่กระจายวงกว้าง นอกจากนี้ ยังต้องย้ำเรื่องสุขอนามัยส่วนตัว

“เร็วๆ นี้สมุทรสาครจะมีการประชุมกับผู้ประกอบการ คณะกรรมการโรคติดเชื้อ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการเปิดเมือง รวมถึงชุมชน ตลาดกลางกุ้งด้วย ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป” พญ.อภิสมัยกล่าว และว่า ส่วนของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากร้านอาหารไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จึงมีการรวมตัวจัดงานเลี้ยงส่วนตัว ยกตัวอย่างการจัดงานเลี้ยงที่ 1 มีผู้ร่วมงาน 30 ราย ติดเชื้อ 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 งานเลี้ยงที่ 2 ผู้ร่วมงาน 13 ราย ติดเชื้อ 10 ราย ร้อยละ 77 งานเลี้ยงที่ 3 ผู้ร่วมงาน 7 ราย ติดเชื้อ 7 ราย ร้อยละ 100 และงานเลี้ยงที่ 4 ผู้ร่วมงาน 16 ราย ติดเชื้อทุกราย

Advertisement

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า สิ่งที่กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ พบว่าผู้ร่วมงานเลี้ยงและติดเชื้อมีการดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน ในลักษณะเล่นเกม อยู่ร่วมกันนาน ใช้มือหยิบอาหารหรือน้ำแข็ง อยู่ในสถานที่แออัด นอกจากนี้ ยังมีการเต้นรำสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยที่สำคัญการพยายามจัดเลี้ยงที่รัดกุม สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง

“แต่ตามหลักเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ดริงก์ เท่ากับเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 4% ขนาด 330 ซีซี 1 กระป๋อง หรือ ไวน์แอลกอฮอล์ 12.5% ขนาด 100 ซีซี 1 แก้ว ส่วนเหล้าวิสกี้แอลกอฮอล์ 40% ขนาด 30 ซีซี 1 แก้ว การดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 ดริงก์ จะเริ่มผ่อนคลาย เฉื่อยชา ตอบสนองช้าลง และขาดความยับยั้ง เสียการควบคุมตัวเอง ไม่ระวังตัวเอง จึงเป็นเหตุผลว่า มาตรการที่ร้านควบคุมที่สุด ก็อาจหละหลวมได้ ผู้ที่ดื่มไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนั้น สถานบันเทิง ผู้ขายแอลกอฮอล์จะต้องเสนอมาตรการดูแลผู้ที่เข้าใช้บริการอย่างไร ให้ดูแลตัวเองปลอดภัย และไม่กลายเป็นผู้แพร่เชื้อ” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนอีกสถานการณ์หนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นการติดเชื้อในที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ในคลินิกแห่งหนึ่ง มีผู้ร่วมงาน 7 ราย ติดเชื้อ 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 และอีกบริษัท มีผู้ทำงาน 10 ราย ติดเชื้อ 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 ทั้งนี้ พฤติกรรมที่ส่งเสริมการติดเชื้อ คือ 1.การรับประทานอาหารร่วมกัน 2.พูดคุยในระหว่างทานอาหาร 3.ไม่ใช้ช้อนกลาง 4.ขณะทำงานในห้องเดียวกันไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะความไว้วางใจ ดังนั้น มาตรการขององค์กร หรือที่ทำงานต้องยกการ์ดสูง ทั้งในห้องทำงานและรถรับส่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image