กรมอนามัย แนะ 4 ล. เตรียมพร้อมรับตรุษจีน เลือก-ลด-เลี่ยง-ล้าง  ย้ำ สวมหน้ากากป้องกัน

กรมอนามัย แนะ 4 ล. เตรียมพร้อมรับตรุษจีน เลือก-ลด-เลี่ยง-ล้าง  ย้ำ สวมหน้ากากป้องกัน

​วันที่ 8 กุมภาพันธ์  ที่ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ผลกระทบจากการจุดธูป การเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ รณรงค์ตรุษจีน “ใช้ธูปสั้น ลดควัน ลดฝุ่น”

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีปริมาณ PM2.5 อยู่ระหว่าง 4–77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบค่าฝุ่นละอองยังเกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 9-10 ก.พ. คาดว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 จะลดลง เนื่องจากมีพายุฝนและลมมีกำลังแรงขึ้นในหลายพื้นที่ แต่หลังจากวันที่ 11 ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ลมจะมีกำลังอ่อนลง อาจทำเกิดการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นในกทม. ปริมณฑล และภาคกลางได้ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ PM2.5 สวมหน้ากากป้องกัน เลี่ยงหรือลดกิจกรรมกลางแจ้งเฝ้าระวังสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว และลดหรืองดการเผาทุกชนิด เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในบรรยากาศ

 

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการไหว้เจ้า กรมอนามัยจึงมีคำแนะนำประชาชนเพื่อร่วมกัน ลดควัน ลดฝุ่น ลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยใช้หลัก 4 ล. คือ 1. ล.เลือก ให้เลือกใช้ธูปขนาดสั้นแทนธูปขนาดยาว เพื่อให้เกิดควันน้อยกว่า เลือกกระดาษเงิน กระดาษทองที่มีฉลากและแสดงข้อความครบถ้วน เช่น วิธีใช้ การเก็บรักษา คำเตือน เพื่อความปลอดภัย ชื่อที่อยู่ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ลักษณะภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพเรียบร้อย 2. ล.ลด ให้ลดระยะเวลาจุดธูป ดับให้เร็วขึ้น และสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเพื่อลดปริมาณฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย 3. ล.เลี่ยง ให้เลี่ยงการจุดธูปหรือ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือถ่ายเทไม่สะดวก หากต้องจุดธูปภายในบ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่าง หรือจุดนอกบ้านในพื้นที่เปิดโล่ง

“สำหรับวัดหรือศาลเจ้าควรตั้งกระถางธูปไว้นอกอาคารหรือในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก รวมทั้งเลี่ยงจุดธูปปักลงอาหาร หรือเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในบริเวณใกล้กับอาหาร เพราะอาจหล่นหรือปลิวของขี้เถ้า ซึ่งมีโลหะหนักลงสู่อาหารและน้ำดื่ม ส่วนเด็กเล็กหรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ ควรเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่จุดธูปหรือเผากระดาษเงิน กระดาษทอง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า 4. ล.ล้าง เมื่อเสร็จพิธีกรรม หรือหลังสัมผัสธูปหรือกระดาษเงิน กระดาษทอง ควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา และเก็บกวาดก้านธูป ขี้เถ้า ใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น ป้องกันการฟุ้งกระจายเข้าสู่ร่างกายและสิ่งแวดล้อม นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพขณะที่จุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ที่พบมากที่สุดคือ มีอาการแสบตา ร้อยละ 70.1 รองลงมาคือ แสบจมูก ร้อยละ 54.3 และหายใจลำบาก ร้อยละ 21.3 ส่วนการกำจัดขี้เถ้าจากธูป กระดาษเงิน กระดาษทอง พบว่า ร้อยละ 52.0 เก็บใส่ถุงทิ้งลงถังขยะ และร้อยละ 40.2 ทิ้งลงดินหรือใส่ต้นไม้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจอนามัยเกี่ยวกับผลกระทบและพฤติกรรมของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. พบว่า ประชาชนร้อยละ 95.9 มีการจุดธูปในช่วงเทศกาล และร้อยละ 83.6 มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง โดยพฤติกรรมการจุด/เผา พบว่า ร้อยละ 53.5 เผาแล้วปล่อยให้ดับเอง และร้อยละ 44.1 มีภาชนะรองรับขณะเผาแต่ไม่มีฝาปิด

ด้าน ร.ศ.ดร.วัฒน์สิทธิ์  ศิริวงศ์  วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธูปหรือกระดาษเงินกระดาษทอง มีส่วนประกอบของสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย โลหะหนัก ซึ่งมาจากส่วนผสมหลักในการผลิต เช่น สีและกลิ่น ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้เมื่อเกิดการ เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดเถ้าลอย อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 และก๊าซพิษที่มีองค์ประกอบโลหะหนัก เช่น อะลูมิเนี่ยม เหล็ก แมงกานีส ตะกั่ว สังกะสี นิเกิล โครเมี่ยม และแคดเมี่ยม เป็นต้น สารระเหยง่าย เช่น สารกลุ่มไดออกซิน(Polychlorinated dibenzo-p-dioxin/ dibenzofuran, PCDD/F) และสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons, PAHs) เบนซีน(Benzene) และ 1, 3-บิวทาไดอีน(1,3-butadiene) เป็นต้น

 

“เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัส โดยเฉพาะผ่านทางการหายใจ อาจจะทำให้เกิด  ผลกระทบต่อสุขภาพเฉียบพลัน เช่น ไอ จาม หายใจขัด ระคายเคืองตา และหากสัมผัสเป็นประจำระยะยาว อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ ปอดอักเสบ และอาจกลายเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ และพาร์กินสันในระยะยาวได้อีกด้วย” ร.ศ.ดร.วัฒน์สิทธิ์ กล่าว

ร.ศ.ดร.วัฒน์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขี้เถ้าที่เกิดจากการเผานั้น ยังคงมีโลหะหนักข้างต้นปนเปื้อน ซึ่งหากมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องและอาจจะ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามอีกด้วย ดังนั้น ประชาชนผู้ใช้ธูปหรือกระดาษเงินกระดาษทอง ควรมีความตระหนักในการดูแลตนเองในการลดความเสี่ยงจากการสัมผัส เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือหลังจากจุดหรือเผา ทิ้งเศษผงขี้เถ้าในภาชนะที่จัดเก็บเพื่อการกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง ลดการใช้ในอาคารบ้านเรือน หรือบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image