ฮือฮา ‘น้ำพุโซดา’ หวานซ่าแก้แล้ง ‘ห้วยกระเจา’ ฉ่ำ

ก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เจาะบ่อน้ำบาดาลใน ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่มีอยู่ทั้งหมด 21 หมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่

กระทั่งสามารถเจาะบาดาลที่หมู่ 12 บ้านพะยอมงาม ได้ 4 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 52 ลบ.ม./ชั่วโมง (ชม.) และที่หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ อีก 2 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 66 ลบ.ม./ชม.คิดปริมาตรรวมกว่า 1,700,000 ลบ.ม./ปี ประชากรจะได้รับประโยชน์ 15 หมู่บ้าน 7,000 กว่าครัวเรือน พื้นที่เกษตร 6,000 ไร่

เมื่อเร็วๆ นี้ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการ สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการขุดเจาะบ่อบาดาล

แต่ครั้งนี้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่า 1 ในบ่อบาดาลที่เจาะลึกลงไป 303 เมตร ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาย 3363 หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา ไม่เพียงจะเหมือนน้ำดื่มที่ใสสะอาดทั่วไป แต่ทั้งมีรสซ่าคล้ายกับโซดา

Advertisement

“เกรียงศักดิ์” ให้ข้อมูลว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สำรวจแหล่งน้ำบาดาลแร่ในพื้นที่บ้านทุ่งคูณ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา พบแหล่งน้ำพุธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อนในประเทศไทย คือ มีรสซ่า คล้ายน้ำโซดา และมีรสชาติออกหวานนิดๆ สามารถนำไปผสมเครื่องดื่มแทนน้ำโซดาได้เลย

พื้นที่ที่พบแหล่งน้ำแร่โซดานี้ เป็นรอยแตกของชั้นหินแปร ที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นดิน 303 เมตร เมื่อเจาะลงไปถึงพบน้ำดังกล่าวพุขึ้นมาเองทันที โดยพุ่งขึ้นมาในปริมาณมากกว่า 50 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง คุณสมบัติของน้ำ ตรวจสอบเบื้องต้น โดยห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบน้ำบาดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ จ.สุพรรณบุรี พบว่า มีค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 คุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำธรรมดามาก ไม่เจอสารพิษใดๆ ปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังพบปริมาณไบคาร์บอเนตสูง คุณสมบัติดังกล่าวนี้ ตรวจสอบในนิตยสาร เมดิคอลเฮลท์ พบว่า เป็นผลดีกับผู้ป่วยเบาหวาน หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสม

Advertisement


“เราพบน้ำแร่โซดาที่มีลักษณะเดียวกันนี้
2 บ่อ ในบริเวณที่ใกล้กัน สาเหตุที่น้ำมีลักษณะและรสชาติดังกล่าว เป็นเพราะบริเวณที่เก็บกักนั้น น่าจะมีหลายองค์ประกอบ เช่น หินอัคนี หรือหินร้อน ที่เป็นตัวทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น คือ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังมีหินปูน ซึ่งเมื่อหินปูนโดนความร้อนก็จะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสะสมในน้ำ เมื่อไปเจาะ น้ำจึงพุขึ้นมาได้เอง รวมทั้งมีรสซ่า อมหวาน เหมือนน้ำโซดาที่บรรจุขวดขาย สามารถนำไปผสมกับเครื่องดื่มดื่มได้ทันที ชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียง เมื่อทราบว่า เราเจาะน้ำบาดาล ที่มีรสชาติคล้ายโซดา ต่างพากันสนใจ มาทดลองชิมกันจำนวนมาก

“เวลานี้เจ้าหน้าที่จะเฝ้าสังเกตดูอัตราการไหลพุขึ้นมาของน้ำก่อนว่ามีลักษณะการไหลเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การพุ หรือไม่พุขึ้นมานั้นไม่มีความสำคัญ เพราะในที่สุดแล้ว สามารถเจาะลงไปสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ หลังจากนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำระบบการกระจายน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำไปอุปโภคบริโภค และใช้สำหรับการเกษตร เพราะตรวจสอบแล้วพบว่าปริมาณน้ำมีมากพอสำหรับการแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้ในช่วยฤดูแล้ง

“น้ำที่มีรสซ่า และหวานสามารถใช้ในการเกษตรได้ เพราะอย่างที่บอกไปตอนแรกคือ ค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำดื่มปกติมาก ทั้งนี้ ในเรื่องของความซ่าจะเหมือนกับโซดาบรรจุขวดทั่วไปคือ เมื่อพุออกมาจากแหล่งใหม่ๆ ความซ่าจะมีอยู่ แล้วจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป” เกรียงศักดิ์แจกแจงถึงน้ำพุโซดา

ด้าน “ศักดิ์ดา” เสริมว่า อ.ห้วยกระเจา ถือเป็นพื้นที่แห้งแล้งอย่างมาก มีชื่อติดอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งทุกปี โดยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลส่งทีมสำรวจไปขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ มีเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่พบแหล่งน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม.เป็นน้ำสะอาด และมีรสชาติค่อนข้างพิเศษ

“ปริมาณน้ำที่พบนั้น สามารถแจกจ่ายให้ชาวบ้านพื้นที่รอบๆ จำนวน 11 หมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรอีก 3 พันไร่ ได้ใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ พูดได้เลยว่า อ.ห้วยกระเจา จะไม่แห้งแล้งอีกต่อไป อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสรุป

อย่างไรก็ตาม พลันที่ข่าวการพบ น้ำพุโซดา เผยแพร่ออกไป มีชาวบ้านเดินทางมาเยี่ยมชม พร้อมทดลองชิมน้ำที่พุ่งออกมาจากบ่อกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

กลุ่มชาวบ้านที่ทดลองชิมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติของน้ำคล้ายกับโซดาจริง แต่ซ่าแบบโซดาค้างคืนที่ไม่ได้แช่เย็น หากจะนำไปผสมเครื่องแอลกอฮอล์ ก็น่าจะใช้ได้แต่ก็คงจะไม่เหมือนกับโซดาที่แช่เย็น

อย่างไรก็ตาม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกมาเตือนว่า แม้น้ำบาดาลดังกล่าว จะมีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีเหมาะสมตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภคก็ตาม แต่การนำมาจัดทำระบบประปาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ควรเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชนด้วย เนื่องจากอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคในระหว่างการเก็บกัก หรือในระบบจ่ายน้ำก่อนถึงครัวเรือนประชาชนได้

ขณะที่ สิริพงศ์ สืบเนียม อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เผยว่า พื้นที่ตำบลห้วยกระเจามีทั้งหมด 21 หมู่บ้าน โดยในพื้นที่เกิดความแห้งแล้งซ้ำซากมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน สำหรับโครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งท่านเหมือนเทวดามาโปรดพวกเราชาวตำบลห้วยกระเจา

“ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ท่านอธิบดีลงพื้นที่ด้วยตนเอง โดยผมได้นำพาสำรวจพื้นที่เจาะบาดาลทั้ง 21 หมู่บ้าน ซึ่งท่านอธิบดีพบว่า พื้นที่ตำบลห้วยกระเจานั้นมีความแห้งแล้งจริง แต่หลังจากที่อธิบดีกลับไปประมาณ 3-4 วัน ก็มีเจ้าหน้าที่ชุดสำรวจกรมบาดาล ลงพื้นที่มาสำรวจหาจุดเจาะบาดาลอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็พบว่าพื้นที่บริเวณนี้สามารถเจาะบาดาลได้” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เล่าถึงที่มาไป


“สิ
ริพงศ์” ยังบอกว่า บ่อแรกที่เจาะลงไปลึกประมาณ 285 เมตร ได้น้ำ 35 คิว บ่อที่สอง ที่เกิดปรากฏการณ์น้ำมีรสชาติคล้ายโซดา เจาะลึกลงไป 303 เมตร ครั้งแรกน้ำภายในบ่อยังมีสภาพนิ่ง แต่ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังนำอุปกรณ์มาตรวจสอบว่าจะได้ปริมาณน้ำประมาณเท่าไหร่ แต่อยู่ๆ น้ำก็พุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุ ทุกคนที่เห็นต่างก็รู้สึกมหัศจรรย์ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากนี้ไปเชื่อปริมาณน้ำที่มีจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับชาวตำบลห้วยกระเจาทั้ง 21 หมู่บ้านได้อย่างแน่นอน

ด้าน สุเวทย์ สินสถาพรพงศ์ อายุ 64 ปี ชาวบ้าน หมู่ 3 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา เผยความรู้สึกว่า ดีใจเป็นอย่างมากที่กรมบาดาลมาเหลือชาวบ้านในครั้งนี้ ผมมีอาชีพทำไร่อ้อยมีที่อยู่ประมาณ 40 ไร่ จุดที่ขุดเจาะบาดาลเป็นที่ดินของผมที่ทำไร่อ้อยอยู่ ผมยินดีที่จะยกให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

“ผมเสียสละที่ดินไปเพียง 2 งานเศษ แต่สามารถช่วยชาวบ้านได้หลายพันคน จึงมีความยินดีเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนกับปัญหาภัยแล้งอีกต่อไป ซึ่งผมเสียผลประโยชน์จากการมอบที่ดินให้รัฐ ไม่ถึง 1 ไร่ แต่ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์หลายพันคนนั้นถือว่าคุ้ม” สุเวทย์บอกอย่างภาคภูมิใจ

นับจากนี้ไปพื้นที่ “ห้วยกระเจา” จะไม่ใช่ “อีสานเมืองกาญจน์” อีกต่อไป เพราะน้ำพุโซดา และน้ำบาดาลที่ขุดพบครั้งนี้จะทำให้ชาวบ้านไม่ต้องทนทุกข์กับภัยแล้งอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image