จัดแถว ‘เอ็นจีโอ’ ส่งเสริมหรือแทรกแซง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …‚ ภายใต้หลักการและเหตุผลต้องการส่งเสริม สนับสนุน ให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหารายได้ หรือเอ็นจีโอ มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ

แต่อีกด้านก็ถูกมองว่าภาครัฐกำลังเข้ามากำกับ แทรกแซงภาคประชาชน ทำให้เอ็นจีโอขาดความคล่องตัว ขาดอิสระในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ อาทิ ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้กับกรมการปกครอง ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สิน ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี

ไปฟังความเห็นจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มองร่างกฎหมายนี้อย่างไร

“นิคม พุทธา” หรือลุงอ้วน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มองว่า เห็นด้วยเพื่อจัดระเบียบเอ็นจีโอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเอ็นจีโอมีทั้งปฏิบัติงานจริง ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม กับพวกที่ใช้องค์กรแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนเอ็นจีโอที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาล พร้อมเสริมสร้างศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ที่สำคัญกฎหมายดังกล่าวต้องไม่เป็นอุปสรรคกับเอ็นจีโอที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะและไม่ได้แสวงหากำไรดังกล่าว

Advertisement

ลุงอ้วนกล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐต้องควบคุมเอ็นจีโอนอกระบบที่มีพฤติกรรมหลอกลวงฉ้อฉล หรือร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตงบประมาณของทางราชการ แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น การตรวจสอบการใช้เงินและเสียภาษีจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งให้เอ็นจีโอที่อยู่นอกระบบหรือเครือข่ายต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์องค์กร

ขณะที่ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เห็นว่า การออกกฎหมายควบคุมน่าจะมีเป้าหมายติดตามตรวจสอบหลายองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบมูลนิธิหรือสมาคมในฐานะนิติบุคคล ซึ่งจะต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการรับเงินจากต่างประเทศต้องทำเฉพาะที่รัฐอนุญาตให้ทำ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งการทำงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนไม่ได้มีปัญหาในทางปฏิบัติ

กลุ่มลุ่มน้ำปิง


“จินตนา แก้วขาว”
ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านหินกรูดและโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกของบริษัทเอกชนเมื่อ 20 ปีก่อน ไม่ใช่การทำในสถานะเอ็นจีโอตามที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกต และไม่เคยให้ความสนใจกับการจดทะเบียนองค์กร เนื่องจากไม่ต้องการทุนสนับสนุน ไม่ต้องการแสวงหารายได้

Advertisement

ส่วนตัวเป็นเพียงแกนนำชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ และเชื่อว่าการต่อสู้ในลักษณะเดียวกันของแกนนำชาวบ้านส่วนใหญ่ทั่วประเทศไม่มีใครสนใจเรื่องการจดทะเบียน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเข้ามาควบคุม เพราะฉะนั้นผู้ที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐจะไม่สนใจเรื่องนี้

เพียงแต่สนใจต้องการภาครัฐได้รับฟังเสียงสะท้อนจากการทำโครงการที่ไม่โปร่งใส

การทำหน้าที่ลักษณะนี้ภาครัฐไม่ควรเข้ามาตรวจสอบ ตรงกันข้ามภาครัฐควรตรวจสอบพวกกันเองว่าทำโครงการโปร่งใสจริงหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์อย่างไร ส่วนองค์กรที่จดทะเบียน เช่น มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ก็เห็นได้ชัดว่าองค์กรเหล่านั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างไร ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบ

“บุญเชิด โพธิ์หมื่นทิพย์” รองผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ระบุว่า จากการดูร่างกฎหมายที่มีข้อกำหนด อาทิ ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้กับกรมการปกครอง ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สิน ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด จึงเห็นว่าไม่ได้มีผลอะไรกับองค์กร เนื่องจากสมาคมได้จดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2517 ปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 16 สาขา มีการรายงานบัญชีให้สาธารณชนรับทราบอย่างโปร่งใสทุกปี ดังนั้น การที่ ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายนี้ออกมาจึงเห็นด้วย

บุญเชิด โพธิ์หมื่นทิพย์

ส่วนเรื่องที่กังวลว่าจะมีการแทรกแซงองค์กรเอ็นจีโอ รองฯเชิดย้ำว่า ไม่น่ากังวลอะไร เพราะทุกวันนี้องค์กรเอ็นจีโอมีอยู่เป็นจำนวนมาก รัฐบาลอาจจะพุ่งเป้าไปที่การควบคุมองค์กรเอ็นจีโอที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะในทางทฤษฎีกฎหมายนี้ก็ออกมาเพื่อใช้ดูแลให้เอ็นจีโอ มีการใช้เงินอย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ผู้ที่จะนำไปใช้ย่อมจะมีทั้งดีและไม่ดี โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ไปใช้ ซึ่งไม่รู้ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือไม่

จึงต้องขอให้ผู้ออกร่างกฎหมายมีความรอบคอบในรายละเอียดข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับทุกองค์กรเอ็นจีโอทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image