กทม.คุมเข้มโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ในความดูแล หลังพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ปทุมธานี

กทม.คุมเข้มโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ในความดูแล หลังพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ปทุมธานี

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่พบรายงานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นลักษณะกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในโรงงานชำแหละเนื้อสุกร ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นั้น จากการตรวจสอบขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในสถานประกอบการโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ที่กรุงเทพมหานครควบคุมดูแลอยู่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้เฝ้าระวังมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างแรงงานทั้งคนไทยหรือต่างด้าว รวมทั้งโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินมาตรการเชิงรุกตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มดังกล่าว รวมทั้ง ได้ประสานกับสำนักงานปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานต่างด้าวดำเนินการคัดกรองในระบบคัดกรอง BKK COVID – 19 ในการทำแบบประเมินความเสี่ยงแล้ว

นอกจากนี้สำนักอนามัยได้ลงพื้นที่สถานประกอบการโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ที่กรุงเทพมหานครควบคุมดูแล เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการและกรุงเทพมหานครกำหนดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ใส่หน้ากากอนามัย และถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน ทั้งนี้ขอให้ประชาชนควรรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนในการปรุงสุกแล้วเท่านั้น และควรล้างมือบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อจับเนื้อสัตว์หรืออาหารดิบเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในส่วนของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในตลาดในกำกับดูแลทั้ง 12 แห่ง โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองและประกาศเสียงตามสาย เน้นย้ำมาตรการ D-M-H-T-T ขอความร่วมมือผู้ค้าและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในตลาด และได้เน้นย้ำให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อเข้าใช้บริการภายในตลาด หากตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 จะให้นั่งพักประมาณ 5 นาที แล้ววัดอุณหภูมิอีกครั้ง ถ้ายังเกิน 37.5 จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ในทันที นอกจากนี้ทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะเมื่อเข้าและออกจากตลาด และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 – 2 เมตร นอกจากนี้ สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โดยรอบตลาด เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในตลาด ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งแจ้งให้ผู้ประกอบการ ผู้ขาย ผู้ช่วยขาย ทำความสะอาดแผงค้า ร้านค้า เป็นประจำทุกวัน รวมทั้งการจัดเก็บเศษอาหาร ขยะมูลฝอยและนำไปทิ้งที่จุดพักขยะที่ตลาดจัดไว้ทุกวัน และได้กำชับพนักงานดำเนินการเข้มงวดตรวจตลาดในกำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหากพบผู้ติดเชื้อในตลาด ให้ปิดทำความสะอาด 3 วัน

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือประสาน 50 สำนักงานเขต ให้ดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแลตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเคร่งครัด ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเน้นย้ำมาตรการ DMHTT พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตลาดปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะการจัดให้มีการระบายอากาศในตลาดที่ดี หากพบว่าผู้ประกอบการตลาดรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกรณีที่ได้รับรายงานว่าพบผู้ค้าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในตลาดใด ให้เจ้าของตลาดปิดการดำเนินกิจการเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน และให้ดำเนินการล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ค้าและประชาชนทั่วไปที่มาจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งนี้ หากพบว่าตลาดใดมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และหากพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต หรือ สายด่วน กทม. 1555

Advertisement

สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในตัวอย่างน้ำเสียและตัวอย่างป้าย (Swab) จากจุดสัมผัสร่วมในห้องน้ำในตลาด เพื่อประมาณการการแพร่ระบาดของเชื้อ หากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ จุดใด ก็จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกประชากรในละแวกนั้น ซึ่งเป็นการตรวจเชิงรุกในสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถคัดกรองหาผู้ติดเชื้อได้ละเอียดยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จากการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 – 23 ก.พ.64 ที่ผ่านมาในตลาดจำนวน 53 แห่ง โดยเก็บตัวอย่างน้ำเสีย จำนวน 56 ตัวอย่าง และตัวอย่างป้าย (Swab) จากจุดสัมผัสร่วมในห้องน้ำในตลาด จำนวน 196 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในทุกตัวอย่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image