สธ.ยันแพทย์หญิงช็อกไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนโควิด-19 ชี้มีท้องเสีย รอพิสูจน์ติดเชื้อร่วมหรือไม่

สธ.ยันแพทย์หญิงช็อกไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนโควิด-19 ชี้มีท้องเสีย รอพิสูจน์ติดเชื้อร่วมหรือไม่

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย พบจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 36 ราย ในกรุงเทพมหานคร 2 ราย ตาก 3 ราย นครนายก 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย สมุทรสาคร 28 ราย ชลบุรี 1 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนมี 8 ราย ที่ จ.สมุทรสาคร ทั้ง 8 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และอยู่ในระบบกักตัว มี 6 ราย ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย คูเวต 1 ราย อียิปต์ 1 ราย แอฟริกาใต้ 1 ราย รัสเซีย 1 ราย มาเลเซีย 3 ราย เป็นเพศชายสัญชาติเมียนมาทั้งหมด อายุ 19, 28 และ 25 ปี เข้าประเทศประเทศผ่านทางพรมแดนธรรมชาติ อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.สุไหง-โกลก และเดินทางมาจากเมียนมา 1 ราย เข้าประเทศผ่านพรมแดนธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยรายนี้เป็นหญิงไทยอายุ 23 ปี อยู่ระหว่างรักษาตัวที่ รพ.สุโขทัย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 26,162 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 85 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เป็นชายไทยอายุ 63 ปี ภูมิลำเนา กรุงเทพฯ

“แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่ยังมีการค้นหาผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง อย่างกรณีพบการติดเชื้อกลุ่มก้อนในโรงงานชำแหลเนื้อสุกรที่ จ.ปทุมธานี ก็ได้แจ้งเตือนให้จังหวัดต่างๆ มีการสุ่มตรวจในโรงงานชำแหละเนื้อต่างๆ อย่างในกรุงเทพฯ สุ่มตรวจโรงชำแหละเนื้อต่างๆ ยังไม่พบการติดเชื้อ ขอให้ประชาชนอุ่นใจ แม้ตัวเลขน้อยแต่ไม่ลดละในการพยายามค้นหาผู้ป่วยที่จะหลุดรอด เพราะหากเจอเร็วหยุดการระบาดได้เร็ว ก็จะไม่มีกลุ่มก้อนวงกว้างปรากฎขึ้นมามาก” นพ.เฉวตสรรกล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 3 มีนาคม 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเป้าหมายใน 13 จังหวัดแล้ว จำนวน 13,464 ราย ในจำนวนนี้ มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน จำนวน 119 ราย มีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีด 59 ราย ปวดเมื่อยเนื้อตัว 1 ราย คลื่นไส้ 19 ราย ไข้ 2 ราย หนาวสั่น 6 ราย เหนื่อย 1 ราย และแน่นหน้าอก 11 ราย โดยผู้ฉีดวัคซีนสังเกตอาการและรายงานผ่านไลน์หมอพร้อมและเจ้าหน้าที่ หรือ อสม.ทางโทรศัพท์

“จำนวนผู้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมรายจังหวัด แยกเป็น จ.เชียงใหม่ ได้รับ 3,520 โดส ฉีดแล้ว 347 ราย จ.ตาก 5,000โดส ฉีดแล้ว 570 ราย จ.นนทบุรี 6,000 โดส ฉีดแล้ว 853 ราย จ.ปทุมธานี 8,000 โดส ฉีดแล้ว 957ราย จ.สมุทรสาคร 35,080 โดส ฉีดแล้ว 4,509 ราย จ.สมุทรสงคราม 2,000โดส ฉีดแล้ว 439 ราย จ.ราชบุรี 2,520 โดส ฉีดแล้ว 686 ราย จ.นครปฐม 3,560 โดส ฉีดแล้ว 1,398 ราย จ.สมุทรปราการ 6,000โดส ฉีดแล้ว 628 ราย จ.ชลบุรี 4,720โดส ฉีดแล้ว 1,816 ราย จ.ภูเก็ต 4,000 โดส ฉีดแล้ว 400 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 2,520โดส ฉีดแล้ว 210 ราย และกรุงเทพฯ 33,600 โดส ฉีดแล้ว 651 ราย” นพ.เฉวตสรรกล่าว

Advertisement

ขณะที่ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงกรณีพบอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19 และการปฏิบัติตัวเตรียมพร้อมก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า กรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์เพศหญิงอายุ 28 ปี 1 ราย มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนนั้น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ได้ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ และกรมควบคุมโรค โดยจากการทบทวนข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่า ได้รับวัคซีนประมาณ 11.00 น.ช่วงสังเกตอาการ 30 นาทีแรก อาการปกติ อาจจะมีเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการพบได้ทั่วไปหลังได้รับวัคซีน เมื่อเวลา 14.00 น. คลื่นไสอาเจียนเวียนศีรษะเพิ่มขึ้น ยังปฏิบัติงาน เวลา 16.30 น. เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น แน่นหน้าอก เหงื่อออก ปลายมือเท้าเย็น ไม่มีผื่นขึ้นตามตัวหรือตัวบวม ความดันเลือด 90/60 มิลลิเมตรปรอท ชีพจรปกติ 90 ครั้งต่อนาที ตรวจปอดปกติ ไม่มีผื่นขึ้น ไม่มีหอบเหนื่อย หลังได้รับยาทางกล้ามเนื้ออาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาการของรายนี้เกิดขึ้นล่าช้าหลัง 30 นาทีแรก และไม่มีภาวะช็อก ผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปว่าไม่ได้เป็นอาการช็อกรุนแรง หรือแพ้วัคซีน แต่เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับวัคซีนและสามารถพบได้และดีขึ้น โดยรายนี้เมื่อสังเกตอาการ 1 วันก็ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บุคลากรรายนี้มีอาการท้องเสียร่วมด้วย อาจจะต้องพิจารณาต่อว่าเป็นประเด็นเรื่องของการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม ดังนั้น บุคลากรรายนี้ถือว่าเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่ไม่ใช่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญประเมิน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้แล้ว รายนี้สามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่หากยังกังวลว่าจะแพ้วัคซีนหรือไม่ อาจจะทดสอบก่อนฉีดเข็มต่อไป” พญ.จุไรกล่าว

พญ.จุไรกล่าวอีกว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับวัคซีน เพราะฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องมารับวัคซีนนอกจากบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทำงานด่านหน้าแล้ว คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีน ทั้งนี้ ก่อนที่จะฉีดวัคซีนจะมีการประเมินอาการโดยแพทย์ก่อนว่า อาการคงตัวสามารถควบคุมได้ หากแพทย์ประเมินว่าไม่พร้อมก็ไม่ให้วัคซีน และข้อห้ามในการรับวัคซีนเลย คือ รายที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดนี้มาก่อน ซึ่งจะเป็นข้อห้ามในการฉีดเข็มถัดไป แต่ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงใน 30 นาที ทั้งการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้วัคซีนตัวอื่นให้แจ้งแพทย์ที่ รพ.ที่รับวัคซีนเพื่อประเมินอีกครั้ง

พญ.จุไรกล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนนั้น ที่ รพ.จะมีการซักประวัติว่าเข้าข่ายรับวัคซีนได้หรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ เช่น มีการวัดความดัน หลังรับวัคซีนสังเกตอาการ ณ สถานพยาบาล 30 นาที ถ้ามีปัญหามีทีมช่วยดูแลทันที และการเฝ้าติดตามอาการหลังรับวัคซีนจะประเมินจนครบ 30 วัน ในการฉีดแต่ละเข็ม โดยติดตามผ่านไลน์หมอพร้อม หรือโดย รพ.ในวันที่ 1, 7 และ 30 หลังรับวัคซีน

“ยังมีความจำเป็น และความสำคัญที่โปรแกรมการให้วัคซีนโควิด-19 ยังต้องให้ต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจในการติดต่อกับ รพ.ในการรับวัคซีน จะมีการประเมินและผู้ดูแลอย่างรอบคอบในการรับวัคซีน ส่วนถ้ามีอาการรุนแรงขณะอยู่ที่บ้านสามารถโทรสายด่วน 1669 หรือ 1422 และไป รพ.ใกล้บ้านที่สุดด้วยความรวดเร็ว และแจ้งแพทย์ว่ารับวัคซีนโควิด-19มา” พญ.จุไรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image