อว.ปลื้มผู้รับการจ้างงานโครงการ U2T ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน เปลี่ยนปัญหาเป็นนวัตกรรม

อว.ปลื้มผู้รับการจ้างงานโครงการ U2T ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน เปลี่ยนปัญหาเป็นนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่วัดถ้ำศรีชมภู ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เป็นครั้งแรก โดยมีนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชนที่ได้รับการจ้างงานมาร่วม โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มชุมชนผ้าทอมือ กลุ่มผ้าทอสาวภูไท กลุ่มผ้าอีสานย้อมครามและสีธรรมชาติจากดอกดาวเรือง รวมทั้งชุมชนที่ทำขนมปั้นขลิบไส้ปลาไส้เห็ด ซึ่งผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ที่ลงไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง

ศ.(พิเศษ) เอนก กล่าวว่า ผู้ได้รับการจ้างงานมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษามาทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันในแต่ละตำบล ได้ใช้ความรู้ความสามารถไปช่วยชาวบ้าน ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีเครื่องมือในการนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ชาวบ้านปลูกอ้อยได้ตันละ 1,200 บาท มหาวิทยาลัยและผู้ได้รับการจ้างงานก็มาช่วยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถทำรายได้จากตันละ 1,200 บาท เป็น 4-5 หมื่นบาทต่อตัน หรืออย่างเรื่องของผ้าทอมือของอีสาน กระทรวงมหาดไทยและสถาบันสิ่งทอก็มาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการตลาดและส่งเสริมการปลูกฝ้ายจากฝ้ายพันธุ์ดี เป็นต้น

Advertisement

รมว.อว.กล่าวว่า นี่คือการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนปัญหาเป็นนวัตกรรม ที่โครงการ U2T จะทำภายใน 1 ปีใน 3,000 ตำบล ที่วิชาการ ความรู้ จะผลิดอกออกผลไปทั่วประเทศ ตำบลอาจจะขาดในเรื่องขององค์ความรู้ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด แต่มหาวิทยาลัยจะใช้ตำบลเป็นสถานที่ปฎิบัติ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปงตำบล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นคุณประโยชน์ของโครงการ U2T เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันสร้างผลงานและทำตัวเองให้เป็นต้นแบบของ U2T คือ ต้นแบบเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะหลังจากนี้ อว.จะขยายโครงการ U2T จาก 3,000 ตำบลให้ครบ 7,900 ตำบลทั่วประเทศ และที่สำคัญในวันที่ 19-20 มี.ค. ตนจะลงพื้นที่ในโครงการ U2T เป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.ลำปาง

Advertisement

ด้านนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ทางจังหวัดให้การสนับสนุนโครงการ U2T อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งเรื่องของผ้าทอมือ ขนมปั้นขลิบ การได้มหาวิทยาลัยและผู้ได้รับการจ้างงานมาช่วยจะทำให้ได้องค์ความรู้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน รวมทั้งการเพิ่มช่วยทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ ฉลากบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาด การขาย ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น ระยะ 1 ปีของโครงการ U2T ตนเชื่อว่าชุมชนจะเข้มแข็งมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image