นักวิชาการชี้ถึงเวลาสังคายนาโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ แนะเร่งออกกฎคุมราคาขายปลีกขั้นต่ำ

นักวิชาการชี้ถึงเวลาสังคายนาโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ แนะเร่งออกกฎคุมราคาขายปลีกขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวถึงการขึ้นภาษียาสูบในประเทศไทย ว่า หากดำเนินการโดยกรมสรรพสามิตเพียงหน่วยงานเดียว ส่งผลกระทบคือ หลังจากการขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ได้กำหนดอัตราภาษีบุหรี่เป็น 2 อัตรา โดยบุหรี่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 40 ส่งผลให้บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและขายได้น้อยลง แต่บุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น

“ต้องให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบความจริงข้อนี้ และได้โปรดสั่งการให้ฝ่ายสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคมที่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาภาษีบุหรี่ด้วย เพื่อประสิทธิภาพการควบคุมยาสูบของประเทศ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเคยเสนอว่า การขึ้นราคาบุหรี่มีประสิทธิภาพสูงในการลดความต้องการบริโภค ราคาบุหรี่ที่สูงขึ้นช่วยหยุดและป้องกันการเริ่มใช้ยาสูบได้ และช่วยลดการบริโภคในกลุ่มผู้สูบต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วการเพิ่มราคาบุหรี่ ร้อยละ 10 จะลดความต้องการสูบบุหรี่ได้ประมาณ ร้อยละ 4 ในประเทศที่มีรายได้สูง และประมาณร้อยละ 5 ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง” นพ.หทัย กล่าว

ด้าน รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าอันตราย สามารถฆ่าคนได้ รัฐจึงต้องแทรกแซงให้มีราคาสูงขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย

“บุหรี่นอกเดิมขายซองละ 70-72 บาท ควรเสียภาษีร้อยละ 40 ของราคาขายปลีกแนะนำ ไม่ใช่ปล่อยให้ราคาลดลงเหลือ 60 บาท ทำให้เสียภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือร้อยละ 20 คือลดลงถึงซองละเกือบ 10 บาท ขณะที่บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้น และเสียภาษีต่อซองเพิ่มขึ้นทุกยี่ห้อ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก กรมสรรพสามิตอ้างว่ากำหนดอัตราภาษีเพื่อลดการเข้าถึงของประชาชนกรณีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่กลับใช้มาตรการภาษีปล่อยให้บุหรี่ลดราคา ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย

Advertisement

การปล่อยให้บุหรี่ลดราคา นอกจากจะขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังขัดกับการชี้แนะของธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกด้วย ในเมื่อบุหรี่เป็นสินค้าอันตราย การปรับโครงสร้างภาษีจะต้องไม่ทำให้ราคาจำหน่ายบุหรี่ลดลงเด็ดขาด ทั้งนี้ช่วง 3 ปี ประเทศเสียค่าโง่แล้วนับหมื่นล้านบาท จึงควรทบทวนเรื่องราคาและภาษีบุหรี่กันใหม่” รศ.สุชาดา กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรมสรรพสามิตควรพิจารณาแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยจัดทำเกณฑ์กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเป็นการเฉพาะกรณียาสูบไม่ปะปนกับสินค้าอื่นและใช้อัตราเดียว มีกลไกตรวจสอบข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำ และกำหนดภาษีตามปริมาณคิดจากราคาขั้นต่ำของบุหรี่ต่อซองเป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาการเลี่ยงภาษีจนทำให้ภาครัฐเสียหาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2563 รัฐมีรายได้นำส่งแผ่นดินลดลงมากกว่า 10,000 – 21,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image