‘ห้องปฏิบัติการกลางวิทยาศาสตร์’ ของ วศ. กับบทบาทในกฎกระทรวงใหม่

‘ห้องปฏิบัติการกลางวิทยาศาสตร์’ ของ วศ.
กับบทบาทในกฎกระทรวงใหม่

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้กำหนดให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์โดยดำเนินการกำกับดูแล ส่งเสริม วิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ วศ.มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ดังนี้

 

Advertisement

1.พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการ โดยการส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ด้านฟิสิกส์ และด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 2.พัฒนาศักยภาพบุคลากรห้องปฏิบัติการ โดยการบริหารจัดการการศึกษา และฝึกอบรมทางวิชาการและเทคนิคปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่บุคลากรห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

3.พัฒนาหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการจัดหา จัดระบบและจัดบริการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นแหล่งกลางของข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

4.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชุมชน โดยการศึกษา วิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่สำคัญและตามความจำเป็น รวมทั้งการถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 5.เป็นสถานปฏิบัติกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ด้านเคมี เคมีเชิงฟิสิก ฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงกล วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิเคราะห์ทดสอบมลพิษในสิ่งแวดล้อมทางด้านเคมีเชิงฟิสิกส์ ฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงกล และวิศวกรรม รวมทั้งสอบเทียบความถูกต้องเที่ยงตรงของเครื่องมือ และอุปกรณ์วัดแก่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป 6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

Advertisement

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ

 

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารของ วศ. ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบด้วยส่วนราชการและกองสำคัญๆ ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองเทคโนโลยีชุมชน กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ และกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มตรวจสอบภายใน โครงการเคมี โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม และโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

นพ.ปฐม กล่าวว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ของ วศ.ภายใต้กฎกระทรวงใหม่ได้กำหนดให้ วศ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจการให้บริการทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นห้องปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะสอดรับกับยุคของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสิ้นเชิง หรือ Technology Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกแบบก้าวกระโดด ซึ่ง วศ.จะมีส่วนช่วยในการบูรณาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการ ประชาชนและสังคม เศรษฐกิจจะเดินต่อไปไม่ได้ถ้าประเทศไม่มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ วศ.จึงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ของประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งท้ายสุดจะสะท้อนไปสู่ประชาชนที่จะได้รับสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไปของ วศ.กำหนดไว้ในปี 2565 คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรจากระบบราชการไปเป็นองค์การมหาชน ตอนนี้ได้ปรับโครงสร้างภายในโดยจัดตั้ง กองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ (พธ.) เป็นการนำร่องหรือทดลองการพัฒนากระบวนการทำงานในรูปแบบ Agile Management ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง มุ่งเน้นทีมคุณภาพเพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตและบริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนภารกิจบริการทางวิทยาศาสตร์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นรูปธรรม

ก้าวแห่งความท้าทายสำคัญที่ วศ.ต้องเร่งผลักดันผลงานตามความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในการคาดการณ์ความต้องการบริการด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ (Anticipate need for Science services) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก อว. เพื่อเฟ้นหาความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ หน่วยวิจัยและนวัตกรรม เช่น Science park และมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคต่างๆ

ซึ่งถ้าเราเตรียมความพร้อมตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้ วศ.มีศักยภาพและความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยในทุกมิติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image