แรงงาน 7 องค์กร พบ รมว.สุชาติ ขอบคุณผลักดัน ม33 เรารักกัน-วอนแก้ปมข้อพิพาท

แรงงาน 7 องค์กร พบ รมว.สุชาติ ขอบคุณผลักดัน ม33 เรารักกัน-วอนแก้ปมข้อพิพาท

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นางอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และคณะ นำลูกจ้างจาก 7 องค์กรแรงงาน จำนวน 250 คน เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานตามขั้นตอนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พร้อมขอบคุณที่ได้ผลักดันและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน ให้ได้สิทธิในโครงการ ม33 เรารักกัน รายละ 4,000 บาท เป็นผลสำเร็จ

 

นางอภันตรี กล่าวว่า ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน โดยผลักดันโครงการ ม33 เรารักกัน เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ มาก่อน แต่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญ แม้ว่าเงินจำนวน 4,000 บาท จะไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานได้มาก ซึ่งเงินเหล่านี้ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็วอีกด้วย

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม ให้ดูแลดุจคนในครอบครัว จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุก ติดตามให้ความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนผู้ใช้แรงงานในทุกมิติ และว่า กรณีปัญหาด้านแรงงานของแต่ละสหภาพแรงงานนั้น ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปเร่งรัด ติดตาม และรายงานผลกลับไปโดยเร็วที่สุด

สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทแรงงาน ได้แก่ 1.สหภาพแรงงาน (สร.) ซัมมิทแหลมฉบัง โอโต บอดี้ กรณีนายจ้างสร้างหลักฐานการกลับเข้ามาทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน จำนวน 7 วัน และเลิกจ้าง พร้อมนำเงินส่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียสิทธิกรณีว่างงานในงวดสุดท้าย 2.สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย (บริษัท โตโยต้า โกเซรับเบอร์ ประเทศไทย จำกัด) บริษัทกล่าวหา นายสุนทร เพชรอ้อน ว่ายุยงปลุกปั่นพนักงานและให้นายสุนทร กับพวก 14 คน อยู่นอกบริษัทอ้างปรับปรุงบริษัท และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมา สร.ได้ยื่นคำร้องขอให้ ครส.พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งว่าการกระทำของบริษัทเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และให้บริษัทยกเลิกคำสั่งให้พนักงาน 14 คน กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิมรวมถึงจ่ายเงินพิเศษให้กับพนักงาน 14 คน แต่พนักงาน 14 คน ไม่ได้รับเงินพิเศษแต่อย่างใด

3.สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย (ลูกจ้างของบริษัท พงศ์พาราโคนันรับเบอร์ จำกัด) นายจ้างยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานขออนุญาตเลิกจ้างนายสมคิด ของนา กับพวก 8 คน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงวันที่ 30 มกราคม 2564 ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากศาลยังไม่อนุญาตให้บริษัทเลิกจ้างคดีอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลแรงงาน 4.สหภาพแรงงานยาชิโยด้า แห่งประเทศไทย กรณีบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เลิกจ้างกรรมการ สร.โดยไม่มีข้อหาเนื่องจากนายจ้างไม่ต้องการให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องที่ สสค.ปทุมธานี และอยู่ในระหว่างเรียกนายจ้างไปชี้แจงข้อเท็จจริง

5.สหภาพแรงงานบริษัท สยามยาชิโยะ จำกัด บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ.2541 โดยใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการกลั่นแกล้งพนักงานไม่ให้สามารถทำงานต่อไปได้ จนไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย 6.สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ ประเด็นปัญหาบริษัท รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานไทย จำกัด อาทิ เรื่องการโอนย้ายพนักงานที่ไม่เป็นธรรม การประกาศใช้นโยบายเวิร์ก ฟรอม โฮม (Work From Home) กับพนักงานตรวจค้นรายเดือน (บังคับให้หยุดงาน) และหักเงินเดือนพนักงาน หากพนักงานไม่มาทำงานในวันที่สั่งหยุด ให้พนักงานรักษาการณ์ทำงาน 8 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัวที่จำเป็น ทำให้พนักงานหญิงมีปัญหาสุขภาพ บริษัทฯ ออกประกาศเพิ่มชั่วโมงการทำงานจาก 8 ชม. เป็น 12 ชม. ในแผนกรักษาความปลอดภัย บริษัทฯ ไม่มีการจัดหาห้องพยาบาล และห้องพักผ่อนไว้ให้พนักงาน บริษัทฯ ไม่มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามกฎหมาย ฯลฯ และ 7.บริษัท ยูชิน ประเด็นติดตามความคืบหน้าคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image