อย.-กรมวิชาการเกษตร จับมือให้ความรู้ปชช. อนุทิน ย้ำ! ไทยใช้ประโยชน์จากกัญชาแห่งแรกในอาเซียน

อย.-กรมวิชาการเกษตร จับมือให้ความรู้ปชช. อนุทิน ย้ำ! ไทยใช้ประโยชน์จากกัญชาแห่งแรกในอาเซียน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการกัญชาในอุตสาหกรรมสุขภาพ และการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลมีความจริงใจและตั้งใจในการผลักดันสมุนไพรอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมผู้ปลูก คือ เกษตรกร ผู้ผลิต หรือ ภาคอุตสาหกรรม และผู้ขาย ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้สมุนไพรและเป็นการเสริมสร้างรายได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในสายตาประชาคมโลก “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่มีค่าและให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ทั้งการแพทย์ สุขภาพอาหาร และต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ โดยปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17 โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด

“นี่เป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันกัญชาเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร (Product Champion) ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรผู้ปลูก กลางทางคือ ผู้ผลิต และปลายทางคือ ผู้ขายและประชาชน มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากกัญชงกัญชา เพราะสภาพภูมิอากาศในการปลูก ประสบการณ์ของเกษตรกร และรัฐบาลมีนโยบายในการให้บูรณาการเรื่องนี้ ซึ่งมั่นใจว่าไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปลดล็อกพืชกัญชา เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สธ.มอบให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นหน่วยงานหลัก ในการผลักดันพืชสมุนไพร รวมถึงกัญชาและกัญชงทางด้านการแพทย์ให้ไปถึงพี่น้องเกษตรกรรมมากที่สุด โดยทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะ กษ.

“ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่บุคลากร สธ.ทุกส่วน ทุกคน ได้พยายามร่วมกันทุ่มเทตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. ต้องขอบพระคุณปลัด สธ. รองปลัด สธ. อธิบดี ตลอดจนผู้บริหาร และเพื่อนข้าราชการ สธ.ทุกคน ที่กรุณาตอบสนองนโยบายกัญชงและกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์อย่างดียิ่ง เราผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งการต่อต้านนโยบายของเราว่า กัญชงกัญชาเป็นสิ่งเสพติด สิ่งที่เราทำคือ ให้ผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก จากพืชที่ถูกตราว่าเป็นสิ่งเสพติดให้เป็นพืชที่สร้างรายได้ช่วยเศรษฐกิจ ของที่ไม่ดี เราก็ไม่เอามา เราเอามาแต่สิ่งที่ดีมาใช้ โดยส่วนที่เป็นโทษ ส่วนใหญ่ประชาชนทราบข้อมูลจึงนำส่วนที่ดีและมีประโยชน์มาใช้” รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน ส่วนผู้แทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 4 กลุ่มใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน สกลนคร และนครสวรรค์ เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 30 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกกัญชามากกว่า 60 ไร่ การจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้ คาดมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท

“ความคาดหวังว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจจึงมีความเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่า ดอกกัญชาเป็นตัวร้าย ผลิตสารทีเอชซี (THC) ซึ่งเราก็จับตัวนี้เข้าห้องขัง คือ โรงพยาบาล ด้วยการนำไปสกัดเป็นน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนั้น สารที่ทุกคนบอกว่าร้าย คือทีเอชซี เมื่อนำมาใช้ถูกต้องก็สามารถใช้ประโยชน์ เป็นพระเอกได้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน น.ส.มนัญญา กล่าวว่า กษ.โดยกรมวิชาการเกษตร จะมีการตรวจสายพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มั่นคงต่อไป ซึ่งจะทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกัญชา กัญชง โดยจะให้เกษตรกรจังหวัดเข้าไปควบคุมกำกับดูแลในระดับพื้นล่าง ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ กษ. จะเปิดตลาดกลางในการรับซื้อเมล็ดกัญชงและเมล็ดกัญชาต่อไป

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยนำไปใช้กับผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย ฯลฯ เข้าถึงการรักษาด้วยกัญชามากขึ้น และยังเก็บข้อมูลบูรณาการการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 90 ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ถือว่าการใช้ทางการแพทย์เป็นการใช้ได้ดี รวมทั้งยังบรรจุในแผนระบบบริการสุขภาพ

“นอกจากนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงปลดล็อกชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรค ปัจจุบัน เปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัด สธ. เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพรกัญชาและกัญชง เป็นภารกิจสำคัญของ สธ.ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image