อย.-วิสาหกิจชุมชน ชี้เหตุกัญชาราคาพุ่งหลักหมื่น! เพราะเพิ่งปลดล็อก แต่ต้องการใช้มาก

อย.-วิสาหกิจชุมชน ชี้เหตุกัญชาราคาพุ่งหลักหมื่น! เพราะเพิ่งปลดล็อก แต่ต้องการใช้มาก

กรณีมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ภายหลังมีการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถปลูกต้นกัญชา กัญชง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่วนของราก เปลือก ใบ และลำต้น ไปจำหน่ายให้คู่ค้านำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้แต่นำไปปรุงประกอบอาหารและเครื่องดื่มเมนูต่างๆ แต่ปรากฎว่าในท้องตลาดมีการปั่นราคา โดยเฉพาะใบกัญชาที่ตั้งราคาซื้อขายกิโลกรัมละหลักหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ใบกัญชาแทบไม่มีสารสำคัญที่ใช้ในด้านการแพทย์นั้น

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เดิมทีพืชกัญชา กัญชง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ห้ามการผลิต นำเข้า จำหน่ายและส่งออกโดยเด็ดขาด แต่ด้วยประโยชน์ของพืชกัญชา ทำให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์และวิจัย ทั้งนี้ ตามหลักของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 (Single Convention on Narcotic. Drugs, 1961) ของสหประชาชาติ ระบุชัดเจนว่า กัญชาและกัญชงยังเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับที่ 7 ของประเทศไทย ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์และวิจัย กำหนดคุณสมบัติผู้ปลูกไว้ชัดเจน เช่น วิสาหกิจชุมชนปลูก ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขณะที่พืชกัญชง ตาม พ.ร.บ.ระบุว่าให้ออกกฎกระทรวงฯ บังคับใช้เรื่องกัญชงโดยเฉพาะ

“โดย 2 ปีที่ผ่านมา วัตถุประสงค์การขออนุญาตปลูกกัญชา ยังเพื่อการแพทย์และวิจัย ดังนั้นในส่วนที่มีสารทีเอชซี (THC)  สูงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย คือ ช่อดอกกัญชา และใบรองดอก ซึ่งตามหลักสากลทุกประเทศก็ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ แต่ประเทศไทยปลดล็อกส่วนนี้ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้ใบอนุญาตได้ ส่วน อย.ก็ได้ปลดล็อกส่วนอื่นของกัญชา เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ราก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เกิดเป็นกระแสในสังคม

“มีผู้เห็นประโยชน์ของส่วนที่ปลดล็อก เป็นตามหลักเศรษฐศาสตร์ ดีมานด์ ซัพพลาย เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อมีคนต้องการมาก ราคาก็จะสูงขึ้น ประกอบกับ ผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกถูกต้องในขณะนี้ยังไม่แพร่หลายทั่วประเทศ” ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า

Advertisement

ด้าน นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง กล่าวว่า แรกเริ่มที่ปลูกพืชกัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์เท่านั้น ปลูกด้วยใจเพื่อให้ผลิตยารักษาผู้ป่วย

“ก่อนหน้านี้ปลูกได้ผลผลิตก็ส่งไปให้ รพ.สต. ทั้งหมด แต่ขณะนี้ อย. ปลดล็อกให้ขายส่วนอื่นๆ ของกัญชาได้ เราก็ได้ลืมตาอ้าปาก กลับมาเลี้ยงดูกลุ่มเกษตรกรของเราได้ ส่วนของพืชกัญชา เช่น ใบ ราก กิ่ง ก้าน ที่ได้รับการปลดล็อกมา หากนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะมีฤทธิ์ทำให้ผ่อนคลายอารมณ์ได้ ช่วยเรื่องสุขภาพได้บ้างเล็กน้อย เพราะหากคนเราสามารถนอนหลับได้ดี มีการผ่อนคลายอารมณ์ ก็จะดีต่อสุขภาพ” นายองอาจ กล่าว

ทั้งนี้ นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนเรื่องราคาเป็นไปตามกลไลตลาด ดีมานด์ ซัพพลาย เพราะตอนนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกในประเทศยังมีน้อยมาก และยังปรับตัวกันไม่ทัน

“เพิ่งผ่านมา 2 เดือน ที่รัฐบาลอนุญาตให้เรานำส่วนของพืชกัญชาไปใช้ประโยชน์อื่นๆ สามารถนำไปขายได้ ความต้องการสูงมาก เราปลูกไม่ทัน ฉะนั้น เรื่องราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่หากอนาคตเปิดกว้างให้กลุ่มเกษตรกรปลูกได้มากขึ้น ก็จะทำให้ราคาลดลงมาอย่างแน่นอน กัญชาคือ โอกาสของประเทศไทยอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่เราก็ต้องช่วยกันเรื่องการวิจัยผลิตยา เราต้องเร่งให้ทันใน 5 ปี ที่ยังกันการจดสิทธิบัตรยาจากเมืองนอก แต่หากพ้น 5 ปีแล้ว เขาก็จะเข้ามาจดสิทธิบัตรยาในไทย หมายถึงเราต้องซื้อยาเขา คำถามคือ อุตสาหกรรมของเราจะเดินยังไง นอกจากนั้น ต้องผลักดันให้มีสายพันธุ์ของไทยเกิดขึ้นมาให้ได้ เราก็พัฒนาให้มันทันประเทศอื่นๆ ที่เขาก็มีวิจัยกัญชาเหมือนเรา” นายองอาจ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image