คืนความเป็นธรรมพริตตี้วาวา ฟัน รพ.เอกชน 2 ข้อหา ฐานไม่ช่วยผู้ป่วยวิกฤตทำถึงตาย

สธ.คืนความเป็นธรรมพริตตี้วาวา ฟัน รพ.เอกชน 2 ข้อหา ฐานไม่ช่วยผู้ป่วยวิกฤตทำถึงตาย

จากกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมมารดาของพริตตี้ วาวา หรือ น.ส.วิชญาพร วิเศษสมบัติ เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจนเป็นเหตุให้เกิดการรักษาล่าช้า และเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวเสียชีวิตนั้น

วันนี้ (12 มีนาคม 2564) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส.ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า เมื่อ สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ตนก็ได้มอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สบส.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ไขข้อกระจ่างเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายทันที ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการตรวจเอกสารทางการแพทย์ เวชระเบียนอย่างรัดกุม พร้อมเรียกทางฝั่งโรงพยาบาลเอกชน และญาติผู้เสียชีวิตมาให้ถ้อยคำ และนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมพิจารณา เมื่อบ่ายวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

“ซึ่งหลังจากคณะกรรมการได้ดำเนินการพิจารณาข้อมูลที่ได้รับอย่างถี่ถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีมติว่าโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมีการกระทำผิดจริง จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ใน 2 ข้อหา ซึ่งประกอบด้วย 1.ความผิดตามมาตรา 36 เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุคือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ สถานพยาบาลไม่มีการคัดแยกผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ในระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นเหตุให้เกิดการคิดค่าบริการในขณะที่ให้บริการ ซึ่งเป็นที่มาของการร้องเรียนการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ

2.ความผิดตามมาตรา 73 เนื่องจากในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมีการเรียกเก็บค่าอาหารจากผู้ป่วยเป็นจำนวนเงิน 400 บาท โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รับบริการ จึงถือว่าเป็นการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการปฏิเสธ หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ยิ่งในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากโรคประจำตัวระหว่างเดินทางเพิ่มมากขึ้น ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่บนเส้นทางหลักที่มีการสัญจรคับคั่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า เมื่อประสบเหตุฉุกเฉินจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานอย่างแน่นอน และหากประชาชนพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้แจ้งได้ที่สายด่วน สบส.1426 เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image