สธ.ยันผู้ร่วมชุมนุมเสี่ยงต่ำติดโควิด-19 วอนเลิกพฤติกรรมลักลอบเข้าเมือง

สธ.ยันผู้ร่วมชุมนุมเสี่ยงต่ำติดโควิด-19 วอนเลิกพฤติกรรมลักลอบเข้าเมือง

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ร่วมแถลงประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีหลายปัจจัยบ่งบอกว่ากำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การตรวจเชิงรุกในโรงงานสัปดาห์ที่ผ่านมาดำเนินการไปประมาณ 100 แห่ง ยอมรับว่าทำน้อยลง แต่ก็เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับสถานการณ์

“เราสามารถควบคุมการติดเชื้อในโรงงานได้อย่างดี จากที่เคยมีรายงานการติดเชื้อในโรงงานกว่า 273 แห่ง สามารถควบคุมได้แล้ว 226 แห่ง และเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบซ้ำอีก 55 แห่ง พบว่า 41 แห่ง ไม่มีการติดเชื้อแล้ว ขณะนี้มีการยุบโรงพยาบาล (รพ.) สนาม หลายแห่งแล้ว คงเหลือไว้รองรับสถานการณ์ประมาณ 2,000 เตียง อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เรายังคงดำเนินการอยู่คือการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด และเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจะครบตามแผนการฉีดให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 3 หมื่นคน ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนล็อตต่อไปนั้น ขอให้กลุ่มเป้าหมายลงทะเบียน แจ้งต่อสถานพยาบาลเพื่อขอรับวัคซีนได้” นพ.ธนรักษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ปัญหาที่ยังน่ากังวลคือ ขณะนี้ยังพบว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทย และพบว่ายังมีขบวนการนำคนต่างด้าวเข้ามา เช่นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็พบแรงงานเมียนมาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น ขอให้คนที่ยังมีพฤติกรรมยกเลิกพฤติกรรมเหล่านี้

Advertisement

สำหรับกรณีมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย ร่วมชุมนุมที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขอชี้แจงโดยหลักการไม่แนะนำให้คนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง จากโรงงานรวมกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก โดยเฉพาะจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ไม่ควรเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ และร่วมกิจกรรมที่มีคนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อดูลักษณะการชุมนุม หากคนที่ติดเชื้อ และคนที่ร่วมชุมนุมมีการสวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งพื้นที่เปิดโล่ง ระบายอากาศดี ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่หากมีความกังวลสามารถขอรับการตรวจหาเชื้อได้

ด้าน รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวถึงการชะลอการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย หลังยุโรปพบผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีนว่า วัคซีนของแอสตร้าฯเป็นหนึ่งที่มีโอกาสเข้าสู่ตลาดวัคซีนเป็นอันดับหนึ่ง มีการสั่งซื้อกว่า 2-3 พันล้านโดส มีการฉีดไปแล้วมากกว่า 34 ล้านโดส หลายพื้นที่ไม่มีปัญหาอะไร รวมถึงการฉีดที่เกาหลีใต้ อินเดีย ก็ไม่มีปัญหา และจากข้อมูลล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (12 มีนาคม) พบ 2 ประเทศ คือ แคนาดาและออสเตรเลีย เดินหน้าฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯต่อไป

“ซึ่งเหตุการณ์นี้ เราก็เข้าใจทางการแพทย์เรารู้ว่าโรคที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น สามารถเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง 1.ในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งแก่ยิ่งเจอได้มาก เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง 2.ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์ด้วย เช่น แอฟริกา ฝรั่งมีโอกาสเกิดเยอะกว่าชาวเอเชียประมาณ 3-5 เท่า 3.โรคนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เพราะเบาหวานจะทำให้เส้นเลือดมีการเปลี่ยนแปลง เทียบกับท่อระบายน้ำที่ไม่คล่องตัวมีโอกาสที่จะอุดตันได้ นอกจากนี้ ยังมีโรคหัวใจ ความดัน โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อต่างๆ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายกว่า ดังนั้น ทางการแพทย์จึงมีโอกาสเจอโรคนี้ได้ง่าย แต่ก็จะเจอน้อยในแถบเอเชีย” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

Advertisement

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า เหตุการณ์ลิ่มเลือดอุดตันที่รายงาน 22 ราย จากการฉีด 3 ล้านโดส คิดออกมาแล้วประมาณ 7.3 รายต่อ 1 ล้านโดส เทียบกับอัตราการเกิดโรคลิ่มเลือดในชาวต่างชาติ 1,000 รายต่อ 1 ล้านคนต่อปี ถือว่าต่ำมาก แต่ถึงจะเป็นตัวเลขที่ต่ำแต่ก็ไม่ละเลย เพราะเมื่อไรที่เกิดขึ้นจะต้องมีการสอบสวนโรคเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ให้ความมั่นใจกับทุกคน

“ที่เราจะทำขณะนี้คือ อยากจะรอผลการสอบสวนของทางฝั่งยุโรป ขอเดาออกมาน่าจะเป็นกลุ่มของผู้สูงอายุยิ่งแก่ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันนี้มาก สิ่งพวกนี้อาจจะเป็นกลุ่มนอนติดเตียงก็มี แต่ถ้าพบว่าเกิดในคนหนุ่มสาว จะต้องมีการรื้อค้นอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกรณีที่มีปัญหานั้นเกิดขึ้นที่ยุโรป ส่วนของไทยนำเข้ามาจากเกาหลี ซึ่งเกาหลีก็ฉีดเองด้วย และส่งมาที่เวียดนามด้วย ก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอเรียนให้ทราบว่าส่วนตัวผมเอง คงจะฉีดในวันแรกที่ไฟเขียวขึ้น เพราะว่าผมมั่นใจมาแล้วจากการเห็นข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่มีเป็นพันๆ หน้า ที่วิจัยในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน แล้วยิ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 34 ล้านโดส ในหลายๆ ประเทศ บางประเทศฉีดต่อ บางประเทศชะลอ ดังนั้น ขอเพิ่มความมั่นใจ และขอให้ทุกท่านอย่ากังวล อะไรก็ตามที่สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ปลอดภัย เราไม่ให้กับประชาชน สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกตัว เวลาฉีดและผลข้างเคียงมีทั้งนั้น มีมาก มีน้อยแตกต่างกัน” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ วัคซีนของแอสตร้าฯจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือไม่ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า ช่วยได้ แต่ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกับเชื้อดั้งเดิม ส่วนวัคซีนของซิโนแวคผลการศึกษาวิจัยยังไม่มาก แต่ถ้าตามทฤษฎีเชื้อที่ตายแล้ว จะมีส่วนประกอบของเชื้อทั้งหมด เขาเชื่อว่าวัคซีนเชื้อตายน่าจะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีพอสมควร แต่นี่เป็นเพียงทฤษฎียังต้องการการพิสูจน์ต่อไป ดังนั้น ถ้ามองถึงในอนาคต ถ้าโควิด-19 กลายพันธุ์ มีเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็จะเป็นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีสายพันธุ์ใหม่ทุกๆ ปี ซึ่งเราจะต้องติดตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image