อนุทิน เปิดอบรมกัญชาแพทย์สหวิชาชีพ ชี้นโยบายล้ำหน้ากว่าที่คิด

อนุทิน เปิดอบรมกัญชาแพทย์สหวิชาชีพ ชี้นโยบายล้ำหน้ากว่าที่คิด

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ โรงแรมริชมอนด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยแพทย์ แพทย์แผนไทย ทันตแพทย์ สัตวแพทย์เข้าร่วมในการอบรม

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. มีนโยบายขับเคลื่อนการใช้กัญชา กัญชงทางการแพทย์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการรักษาโรค โดยในปี 2564 มีนโยบายการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เป็นการร่วมให้บริการระหว่างการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเข้าถึงการได้รับยากัญชาอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย กระจายครอบคลุม 76 จังหวัด โดยมีเป้าหมายให้บริการในโรงพยาบาลทุกระดับจำนวน 660 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน มีแพทย์แผนปัจจุบันผ่านการฝึกอบรมจำนวน 3,230 คน แพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย 3,835 คน แพทย์แผนไทยประยุกต์ 1,664 คน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

“วันนี้กัญชาไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจเพราะหากเราสามารถนำมาใช้ในทางที่ถูกต้อง ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด ผมและคณะแพทย์ทุกคนมีความเชื่อและมีความพร้อมสนับสนุนให้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ได้รับการผลักดันในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและชีวิตประชาชนมากที่สุด สิ่งที่ผมเกรงกลัวที่สุดในตอนเริ่มทำนโยบายกัญชา คือกลัวว่าแพทยสภาไม่ยอมรับ ไม่เชื่อมั่นในคุณสมบัติของกัญชา แต่การที่คุณหมอสมศรี มาปรากฏตัวในงานนี้ แสดงให้เห็นว่านโยบายกัญชามีความสำคัญ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้นโยบายกัญชาไม่ใช่แค่ก้าวหน้าไปจากเดิม แต่ล้ำหน้าเกินกว่าที่เราคิดไว้ตอนต้น เราเริ่มจากการผลักดันทางการแพทย์ สู่การนำส่วนของพืชกัญชา กัญชงมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แปรรูปเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และสินค้าอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรที่ปลูกกัญชงกัญชา ตนมั่นใจว่าหลังจากนี้กัญชาและกัญชง จะเป็นเพื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

พญ.อัมพร กล่าวว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ จากผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มากกว่าการสั่งจ่ายยาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงผลักดันให้มีการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยในการใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชาให้กับผู้ป่วยและสัตว์ป่วย เพื่อให้เกิดการบูรณาการบำบัดรักษาร่วมกันระหว่างวิชาชีพ สร้างความเข้าใจและการส่งต่อผู้ป่วย

พญ.อัมพร กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความเพียงพอ ซึ่งในปี 2563 มีการเบิกจ่ายต่ำกว่างบ ดังนั้นผู้ที่ได้รับการอบรมในวันนี้จะเกิดความมั่นใจว่าเมื่อสั่งจ่ายยาทางการไปแล้ว จะได้รับการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพพร้อมผลักดันนโยบายกัญชาเพื่อประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ การฝึกอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม โดยมีกิจกรรม เช่น การอภิปรายหมู่ในหัวข้อ Cannabis Medicine และประสบการณ์ในการบำบัดรักษาในประเทศไทย พร้อมการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยและตำรับหมอพื้นบ้าน ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างวิชาชีพเกี่ยวกับการรักษาบำบัดจริง

Advertisement

วันเดียวกัน นายอนุทิน เปิดประชุมแนวทางกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในสถานพยาบาลเอกชน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. ผู้บริหาร สธ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก และบุคลากรด้านสาธารณสุขจากหน่วยงาน ร่วมประชุม 200 คน

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้ขับเคลื่อนการนำกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาแผนไทยและแผนปัจจุบัน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 800 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยกว่า 100,000 รายต่อปี จึงได้ขยายบริการกัญชาทางการแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอยการรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564 มีสถานพยาบาลเอกชนได้รับใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 86 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 22 แห่ง และคลินิก 64 แห่ง สถานพยาบาลเอกชนได้ซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแล้ว 31 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิก 21 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง และคลินิกเวชกรรม/ ทันตกรรม/ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์อีกประมาณ 21,000 แห่ง

“สธ.เปิดกว้างให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น ส่วนการขยายขอบข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ มั่นใจว่าภาคเอกชนจะสามารถขยายผลไปได้เป็นวงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับการแพทย์และภาคเศรษฐกิจประเทศ” อนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการอภิปรายและให้ความรู้ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยฯ อย. และ อภ. เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ การขออนุญาตจำหน่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ และการจัดซื้อจัดหาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ แก่ผู้ประกอบกิจการ/ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และมีบูธนิทรรศการ ให้ความรู้ รวมถึงสำรวจข้อมูลความต้องการเปิดให้บริการผ่านเว็บไซต์ของกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image