ผู้ว่าสมุทรสาครฯ กลับบ้านพร้อมวัคซีนเข็มแรก เผย 42 วันที่ไร้ความรู้สึก เป็นตายเท่ากัน ขอบคุณทุกกำลังใจ

ผู้ว่าสมุทรสาครฯ กลับบ้านพร้อมวัคซีนเข็มแรก เผย 42 วันที่ไร้ความรู้สึก เป็นตายเท่ากัน ขอบคุณทุกกำลังใจจากทั่วปท.

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)ศิริราชช รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ และทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “คืนปู สู่สมุทรสาคร” ถอดบทเรียนการรักษาอาการของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ก่อนพาท่านผู้ว่าฯ เดินทางกลับบ้านที่ จ.อ่างทอง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ เข้ารับการรักษาใน รพ.ศิริราช ด้วยโรคโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2563 ถือเป็นผู้ป่วยหนักที่ใส่เครื่องช่วยหายใจนานสุดเท่าที่ศิริราชเคยมีมา แต่ก็กลับมาอาการดีขึ้น จนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ คณะแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ในวันนี ซึ่งปัจจัยความสำเร็จเกิดได้จากการหลายปัจจัย ทั้งการมีระบบส่งต่อดี กระบวนการรักษาดี รพ.สมุทรสาคร เริ่มยาฟาร์วิพิราเวียร์เร็ว จากการกำหนดขั้นตอนการรักษาพยาบาลโควิด ที่ชัดเจน กำลังใจของคนไข้เอง การดูแลของครอบครัว ทำให้ศิริราชเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยโควิด การสื่อข่าวสยบข่าวลือต่างๆ โดยเคารพสิทธิผู้ป่วย

“ท่านผู้ว่าฯ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนานที่สุดในสถิติของเรา จากการระบาดรอบแรกผู้ป่วยใช้นานที่สุด 17 วัน แต่รอบใหม่ คือ 42 วัน ให้นึกเอาว่าการใส่ท่อช่วยหายใจ 42 วันอะไรก็เกิดขึ้นได้ นอกจากปัจจัยรักษาพยาบาลแล้ว ตัวผู้ป่วยเองก็มีส่วนสำคัญ คนที่มาเชียร์ผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ กำลังใจจากตัวท่านเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวท่านอยู่ถึงทุกวันนี้ และกำลังใจนั้นจะทำให้ท่านไปสู้รบต่อที่สมุทรสาครได้ วันที่เสียงของคุณชุติพร ภรรยาของท่านผู้ว่าฯ เข้าไปกระทบหู เป็นวันที่ท่านตั้งใจว่ายังไงฉันก็ต้องกลับสมุทรสาครให้ได้ วันที่คุณน้ำหวานไปเยี่ยมเป็นวันที่ท่านต้องรู้สึกว่าท่านต้องสู้ให้ได้ ซึ่งเป็นกำลังใจ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับท่านผู้ว่าฯ เนื่องจากท่านอายุ 59 ปี 3 เดือน จึงสามารถรับวัคซีนของซิโนแวคได้

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ คณบดีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.วิศิษฎ์ ผอ.รพ.ศิริราช และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ที่เป็นเจ้าของไข้ดูแลตนมาโดยตลอด ขอบคุณกำลังใจที่ทุกคนมอบให้ ซึ่งบางท่านอาจเห็นว่า ตนเดินเข้ามาในห้องประชุมอาจยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก ต้องมีลูกสาวและอาจารย์นิธิพัฒน์ คอยดูแลช่วยเหลือบ้าง แต่เป็นสิ่งที่บอกอยู่อย่างหนึ่งว่า “เมื่อวันก่อนแย่กว่านี้เยอะ ตอนผมรู้สึกตัวด้วยตนเอง ยังรู้สึกว่า นี่คือขาของเรา นี่คือแขนของเรา เพราะไม่มีกล้ามเนื้ออะไรเลย ลงมานั่งอยู่ข้างเตียง มีความรู้สึกว่าเหนื่อยมาก” ฉะนั้น วันนี้ที่เดินมาร่วมกับอาจารย์หมอทั้ง 3 ท่านแถลงข่าวได้ ถือว่าดีกว่าที่เป็นมาโดยปกติก่อนหน้านี้มาก

Advertisement

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนอยู่ที่ รพ.ศิริราช รวม 82 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่รู้สึกตัวเลย 42 วัน ท่านลองคิดเองว่า คนที่ไม่รู้สึกตัวเลย 42 วัน แล้วกลับมาสามารถพูดคุยกับท่านได้ ตนก็แปลกใจว่า เราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอขอบพระคุณ รพ.ศิริราช เป็นอย่างสูง ที่ให้ความอนุเคราะห์กับ จ.สมุทรสาคร ที่เข้าไปดูแลสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ในตลาดกลางกุ้ง และได้ถือโอกาสรับตนมาที่ รพ.ศิริราช

“หลายคนอาจคิดว่าผมมีความสนิทสนมกับศิริราชพยาบาลมาก่อนหรือเปล่า แต่เกิดจากความกรุณาของศิริราชพยาบาล ซึ่งไม่ได้ให้ความอนุเคราะห์ผมคนเดียว แต่ให้ความอนุเคราะห์กับคนไข้ที่มีอาการค่อนข้างแย่ อย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นในเขตบางแค ทางศิริราชพยาบาลก็ยกระดับเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยด้วย เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าศิริราชพยาบาลอยู่เคียงคู่กับประชาชนมาโดยตลอด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ได้เรียกว่าเป็นผู้ว่าฯ หรือเป็นใครเพียงแต่ว่าผมอยู่ในช่วงจังหวะที่พอดีที่อาจารย์นิธิพัฒน์ ได้ไปเยี่ยมที่สมุทรสาคร ซึ่งก่อนหน้าผมเองก็มีคนที่สมุทรสาครเข้ามารับการรักษาที่ศิริราชพยาบาล ในรายที่ศิริราชพยาบาลเห็นสมควรอยู่แล้ว และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับเป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และได้รับพระราชทานแจกันดอกไม้เยี่ยมเป็นประจำ” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ตน ทราบว่าตนเองติดโควิด-19 มันรุนแรงกว่าที่เราเคยคิดว่าก่อน ตนเคยปรารภเล่นๆ กับเพื่อนร่วมงาน ว่า เราทำงาน เราไปที่โน่นที่นี่ รวมถึงมีการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง ถ้าหากไปตรวจจะต้องเจอเชื้อแน่ แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไร ใช้เวลา 10 วันก็คงหาย ซึ่งในขณะนั้นไม่มีที่สำหรับเปิดโรงพยาบาลสนาม จึงตัดสินใจว่า จะเปิดไว้ที่หน้าจวนผู้ว่าฯ คงไม่มีการต่อต้าน เพราะหาก รพ.สนาม ส่งผลต่อคนที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนก็คงเป็นผู้ว่าฯ ก่อนคนแรก เพื่อความไม่ประมาท ตนจึงไปตรวจหาเชื้อก่อนตั้ง รพ.สนาม แต่เราคิดว่าตรวจอย่างไร ก็น่าจะเจอเพราะเราไปหลายที่ แล้วก็เจอจริงๆ แต่ในความรู้สึกนั้น เราก็คิดว่าประมาณ 10 วันก็น่าจะหาย แต่มันรุนแรงกว่าที่เราคิดและประเมินไว้

Advertisement

“อยากบอกกับทุกท่าน ว่า ความรุนแรงของโควิด-19 มันไม่เลือกที่รักมักที่ชัง สามารถเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ไม่สามารถรู้สึกตัวได้ ไม่รู้ตัวเอง 42 วัน จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ วันนี้ผมต้องขอบคุณศิริราชพยาบาล ขอบคุณกำลังใจจากทุกคน ขอบคุณคนไทยทั้งประเทศ ขอบคุณคนสมุทรสาคร ขอบคุณคนศรีสะเกษ ขอบคุณคนพิจิตร คนสุพรรณบุรี และที่ผมเคยรับราชการมา ล้วนแต่เป็นกำลังใจให้ผมเอง ขอบคุณแพทย์พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขที่กรุณาให้ความช่วยเหลือ อนุเคราะห์ดูแลเป็นอย่างดี ทำให้ผมสามารถกลับมาเดินเหินได้ อาจยังไม่ปกติซึ่งต้องใช้เวลา แต่มันดีกว่าที่เราคิดไว้เยอะ ดีกว่าวันที่เรารู้สึกตัวครั้งแรก และเรารู้สึกตกใจว่า นี่คือแขน นี่คือขาของเรา รู้สึกว่ามันมีกล้ามเนื้อ เราสามารถเดินได้ พูดสื่อสารได้ เชื่อหรือไม่ว่าวันแรกที่ผมรู้สึกตัวผมพูดไม่ได้ เพราะมีท่อช่วยหายใจอยู่ แต่ตอนนี้ออกหมดแล้ว เอาเครื่องพันธนาการทั้งหมดออกหมดแล้ว ซึ่งชิ้นสุดท้ายเพิ่งเอาออกก่อนเดินทางมาแถลง คือ สายรัดข้อมือ ที่บ่งบอกว่าเป็นคนไข้ของศิริราช แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว อาจารย์ประสิทธิ์จะขู่ยังไง ผมอาจจะกลัวหรือไม่กลัวก็ได้” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญยิ่ง จะนำเอาบทเรียนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะสิ่งที่ตนถือว่าเป็นนโยบายของตัวเอง ที่สอดคล้องกับสิ่งเป็น ขณะอยู่ในศิริราชพยาบาล คือ “ททท หรือ ทำทันที” เพราะเราไม่รู้ว่าจะเสียชีวิตวันไหน เราไม่รู้ว่าจะเจ็บป่วยวันไหน ดังนั้น การที่ตนผ่านมาได้ในช่วงวิกฤต 42 วันที่ไม่รู้สึกตัว เป็นเหมือนเป็นเส้นแบ่ง เส้นขนานความมีชีวิตอยู่กับความตาย ซึ่งห่างกันนิดเดียว

“เราสามารถที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ จะมีชีวิตอยู่เมื่อไหร่ก็ได้ แต่โชคดีที่ผมได้มาอยู่ที่ศิริราชพยาบาล ได้ยินได้ฟัง คุณหมอหลายท่านที่พูดกับผมว่าอาจารย์ประสิทธิ์บอกกับแพทย์ พยาบาลว่า เคสผู้ว่าฯ ถือเป็นการเดิมพันว่าคณะแพทย์ พยาบาลของศิริราชพยาบาลจะสามารถสู้กับโควิด-19 ได้หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับการศึกษาเรื่องโควิด-19 ต่อไปในอนาคต สำหรับผมเองก็คิดว่าจะสามารถกลับไปทำงานที่สมุทรสาคร เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา ผมทราบดีว่าที่สมุทรสาคร จากเดิมเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งจะขยับออกมาเป็นพื้นที่สีส้ม แต่ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับทาง ศบค. เหนือสิ่งอื่นใดคือตอนนี้คนสมุทรสาครเดือดร้อนมาก มีความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งวันนี้เราจะต้องกลับไปเยียวยา ต้องเริ่มต้นจากกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง วันนี้กำลังใจเต็มร้อย แต่กำลังกายก็จะเต็มร้อยในเร็ววัน อย่าลืมว่าสมุทรสาคร อาหารทะเลอร่อยอย่าลืมแวะไปทานอาหารทะเลกัน” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ภรรยาท่านผู้ว่าการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า วันหนึ่งเสาหลักของครอบครัวประสบปัญหาติดเชื้อโควิด ตนในฐานะภรรยาค่อนข้างกังวลใจ เพราะว่าคุณวีระศักดิ์ มีเรื่องสโตรกอยู่เก่าจึงกังวลว่าร่องรอยของโรคเดิมแล้วถูกซ้ำด้วยโรคโควิด-19 จะทำให้มีปัญหากับการรักษามากมายแค่ไหน ยิ่งตอนแรกการรักษาทำท่าดีขึ้น แต่กลับแย่ลง ตนยิ่งกังวลใจ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องขอบคุณคือประชาชนทุกคนที่ส่งกำลังใจมาให้ตลอด ทำให้ครอบครัวเรามีกำลังใจที่เข้มแข็งขึ้น แล้วส่งต่อกำลังใจมาถึงคุณวีระศักดิ์ ทั้งนี้เมื่อคนในครอบครัวเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา สิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ผ่านพ้นไปได้คือกำลังใจของคนในครอบครัว นอกจากนี้ ส่วนตัวเองที่ติดเชื้อเข่นเดียวกัน และเข้ามารักษาตัวที่รพ.ศิริราช ก็ได้รับการดูแลอย่างดี ได้เห็นการทำงานของทีมแพทย์ที่มีจิตอันเป็นกุศลและความเสียสละซึ่งตนต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างมาก

ด้าน น.ส.วีราพร จิตร์แสงศรี บุตรสาวผู้ว่าการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยวมาก ทางครอบครัวเจอเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนา เพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่ติดโควิดทั้งคู่ ช่วงแรกคุณพ่อมาที่โรงพยาบาลคนเดียว ส่วนคุณแม่ต้องกักตัวที่บ้านไม่ได้เจอกันเช่นเดียวกัน ทั้งนี่ ที่ผ่านมาในช่วงแรกสิ่งที่ทางครอบครัวทุกคนเป็นห่วง คือกำลังใจของคุณพ่อและคุณแม่ ในส่วนของคุณแม่เรายังรู้เรื่องราวจากคนรอบข้าง ส่วนคุณพ่ออเราได้รับรู้จากข่าวไม่สามารถติดต่อท่านได้ ทราบว่าคุณพ่อมีอุปสรรคในการรักษามากเหมือนกันคือเรื่องของการรับรู้เรื่องต่างๆ รอบตัว ทำให้การรักษาของทีมแพทย์ค่อนข้างยากลำบาก ครอบครัวพยายามหาทางส่งกำลังใจผ่านช่องทางต่างๆ

ทั้งนี้ ตนพยายามมาที่โรงพยาบาลศิริราชทุกวันเพื่อสอบถามอาการ และเขียนโน้ตเอาไว้ให้คุณพ่อไม่ว่าท่านจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามก็ จะเขียนไว้ จนกระทั่งกลางเดือนม.ค.ที่คุณพ่อเริ่มตื่นมารับรู้ได้บ้าง นางพยาบาลเริ่มอ่านโน้ตให้คุณพ่อฟังก็ดูเหมือนว่าจะช่วยได้ รศ.นิธิพัฒน์จึงจึงให้อัดเสียงเข้าไปเปิดให้ฟังซึ่งเป็นวันที่ครบรอบแต่งงงานคุณพ่อ คุณแม่จึงโทรหา และส่งเสียงคุณแม่ไปให้ เราทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อตอบสนองต่อการรักษา

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากผู้ว่าฯ ติดเชื้อโควิด-19 ทีม รพ.ศิริราช และ รพ.สมุทรสาคร ประเมินร่วมกันและมีความเห็นว่า อาการไม่น่าไว้วางใจ จึงเคลื่อนย้ายท่านมาดูแลที่ รพ.ศิริราช ในห้องไอซียูผู้ป่วยโควิด-19 โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกดูเหมือนอาการปอดอักเสบของท่านดีขึ้น แต่เมื่ออยู่ไปได้ 2 วันก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และยืดเยื้อมาราว 2-3 สัปดาห์ พอเข้าปลายสัปดาห์ที่ 3 ขึ้นต้นสัปดาห์ที่ 4 เราย้อนดูบทเรียนของผู้ป่วยวิกฤตที่ รพ.ศิริราช และทั่วประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ในกรณีผู้ว่าฯ ลากยาวมา 3 สัปดาห์กว่า ทั้งที่การรักษาโรคโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว จึงมีกานตั้งคณะกรรมการแพทย์ มองให้รอบด้าน สุดท้ายจึงตัดสินใจว่า ท่านผู้ว่าฯ ใช้เครื่องช่วยหายใจมานาน เพื่อให้การดูแลรักษาง่ายและคล่องตัวลดภาวะแทรกซ้อน จึงปรึกษาทางครอบครัวพิจารณาย้ายท่อช่วยหายใจจากปากมาที่คอด้วยการเจาะคอ

หลังจากนั้นเราก็ทำการตรวจสิ่งสืบพิเศษต่างๆ เพื่อยืนยันว่า ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทุเลาแล้ว แต่ที่เราตั้งสมมติฐานกันว่าเป็นปฏิกิริยาของร่างกายจากไวรัส ไปกระตุ้นทำให้เกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ แต่เป็นปอดอักเสบจากภูมิต้านทานในร่างกาย เราจึงตัดสินใจให้ยาระงับการอักเสบ ซึ่งค่อยๆ ได้ผลชัดเจนในที่สุด ก็สามารถปลอดภัยในเรื่องของระบบการหายใจ

“รวมเวลาที่อยู่ในไอซียูโควิด-19 จำนวน 42 วัน และย้ายท่านมาอยู่ที่หออภิบาลทางเดินหายใจเตรียมการเปลี่ยนผ่าน แม้พ้นวิกฤตมาแล้วแต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ เราจึงมาเตรียมการฟื้นฟูให้ท่านกลับมาหายใจด้วยตนเองและเตรียมพร้อมร่างกายด้านอื่น ทั้งด้านการรับประทานอาหาร การพูด การเคลื่อนไหว ช่วงแรกเป็นห่วงเรื่องสมองว่าจะกลับมาได้มากแค่ไหน แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่หออภิบาลการหายใจ การฟื้นตัวต่างๆ เร็วมาก เราสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ เอาสายให้อาหารออกได้ เอาท่อเจาะคอออกได้ ท่านพูดได้ ซึ่งวันแรกที่ท่านพูด ทุกคนก็ดีใจ รวมถึงทานอาหารเองทางปาก ก็เหลือเพียงการฟื้นฟูด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนด้านสมองท่านฟื้นกลับมาจำเหตุการณ์ได้ ออกความเห็น มีส่วนร่วมในการพูดจาพูดคุยกับคนอื่นได้ โดยช่วง 24 วันหลังเราย้ายท่านมาในห้องพิเศษและมาถึงในวันนี้ที่พวกเรารอคอยกัน” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่า กรณีความสำเร็จของการดูแลท่านผู้ว่าฯ ส่วนหนึ่งมาจาก ด้านที่ 1 สภาวะสุขภาพส่วนตัวของท่าน เนื่องจากเป็นคนวัยเกษียณแต่มีต้นทุนสุขภาพที่ดี มีความแข็งแรงมาก ผ่านระยะวิกฤตที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 42 วันได้ถ้าเป็นคนทั่วไปก็เรียกว่าลากเลือด แต่ท่านก็ผ่านมาได้ ด้านที่ 2 ทีมแพทย์ ที่เราใช้จากทุกฝ่ายของโรงพยาบาล  ทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลรักษาท่านจนฟื้นตัว ด้านที่ 3 คือเรื่องของการสนับสนุนจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกสาว รวมถึงกำลังใจจากทางบ้านหลายๆ ส่วนซึ่งทำให้หนุนช่วยเรื่องการฟื้นตัว

“ผมต้องยกย่องในความมุ่งมั่นของท่าน หลังจากช่วงวิกฤตมาแล้วการฟื้นตัวสำคัญ และอีกด้านคือความมุ่งมั่นในตัวของผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นกลับขึ้นมา ทั้งสภาพร่างกายและการใช้งานสมอง ทำให้เราเห็นประจักษ์กันในวันนี้ที่ท่านเดินลงจากรถ เดินเข้ามาด้วยตัวเอง อาจจะช้า เคลื่อนไหวไม่คล่อง แต่วันนี้เราก็ได้คืนปู สู่สมุทรสาครแล้ว” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image