สธ.จับตาโควิดกลายพันธุ์-ลักลอบเข้า ปท. แจงวัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดส ฉีด 18 จว.

สธ.จับตาโควิดกลายพันธุ์-ลักลอบเข้าปท. แจง วัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดส ฉีด 18 จว.

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 100 ราย สะสมที่ 27,594 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสม 90 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่คือ จ.สมุทรสาคร 47 ราย กรุงเทพมหานคร 22 รายและจังหวัดอื่นๆ 27 ราย โดยสถานการณ์ช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบว่าบางวันมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ สูงขึ้นไปถึง 148 ราย จากการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เขตบางแค ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 122.3 ล้านราย เป็นรายใหม่ 546,090 ราย เสียชีวิตสะสม 2.70 ล้านราย โดยประเทศอังกฤษ เป็นตัวอย่างการติดเชื้อที่ลดน้อยลงจากช่วงแรก พบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ 6,303 ราย สะสม 4,280,882 ราย นอกจากนี้ การตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์แอฟฟริกาใต้ พบมากขึ้นในหลายประเทศ เพราะการให้ความสำคัญตรวจหาเชื้อที่ละเอียดมากขึ้น ส่วนประเทศไทยก็ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเช่นกัน เนื่องจากพบเชื้อกลายพันธุ์ในหลายประเทศ ซึ่งผู้ที่เดินทางมาจากทวีปยุโรปก็เป็นความเสี่ยงแต่น้อยกว่าทวีปแอฟริกาและแอฟริกาใต้

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 90 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 53 ปี จ.สมุทรสาคร อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น เบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยระหว่างการรักษามีอาการปอดอักเสบ เมื่อวันที่ 28 มกราคม ผู้ป่วยมีอาการไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็วซึ่งทางการแพย์สะท้อนว่าร่างกายต้องการออกซิเจน มีความผิดปกติในปอด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เข้ารักษาที่โรงพยาบาล (รพ.)เอกชน แพทย์ส่งตรวจหาเชื้อ ผลพบการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ส่งต่อมารักษาที่ รพ.ในกรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พบว่าผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย รักษาอาการเบาหวานและพบภาวะเกร็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกทางสมอง ติดเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม อาการแย่ลง ไม่ตอบสนองการรักษาและเสียชีวิต

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดที่เชื่อมโยงกับตลาดบางแค ข้อมูลการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 9 – 18 มีนาคม จำนวน 12,649 ราย พบผู้ติดเชื้อ 372 ราย และพบเชื้อในน้ำเสียของตลาด 4 แห่งจาก 7 แห่ง พบการกระจายไปอีก 10 จังหวัด จำนวน 25 ราย โดยได้เร่งเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ปรับปรุงสุขาภิบาลตาด รวมถึงสุ่มตรวจตลาดอีก 440 แห่ง และ 280 ชุมชนในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ค้ากลุ่มเสี่ยงในตลาดย่านบางแค 961 ราย และได้ออกใบรับรองผลการตรวจโควิด-19 ก่อนอนุญาตให้เข้าขายในตลาดในช่วงเปิดตลาด

ขณะเดียวกัน นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รายงานว่ายังพบชาวต่างชาติลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยตรวจพบเชื้อในระหว่างอยู่ในสถานกักกันที่เขตบางเขนและสวนพลู ดังนั้น จะต้องคงการเฝ้าระวังที่ชายแดนของประเทศไทย พร้อมติดตามเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาที่กลายพันธุ์ในหลายประเทศด้วย

Advertisement

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์การบริหารวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยว่า วัคซีนซิโนแวคที่จะเข้ามาในประเทศไทยวันพรุ่งนี้ (20 มีนาคม 2564) จะเริ่มกระจายฉีดในเดือนเมษายน ครอบคลุม 18 จังหวัด โดยการกำหนดแผนจะปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ โดยคำถามว่าจะกระจายไปทุกจังหวัดได้เมื่อไร คำตอบก็จะอยู่ในเดือนมิถุนายน ที่มีวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดสแรก ทยอยออกมา ตามแผน คือ เดือนมิถุนายน จำนวน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 10 ล้านโดส เดือนสิงหาคม อีก 10 ล้านโดส และอีก 35 ล้านโดส จะเริ่มกระจายในเดือนกันยายนเป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 18 มีนาคม รวม 62,941 ราย เป็นบุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 31,066 ราย เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ 7,147 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 35 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 ราย อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงเทพฯ มีแผนเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร โดยขณะนี้ฉีดครอบคลุมเป้าหมายไป ร้อยละ 19 ซึ่งระยะที่ 2 ที่วัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมจะเริ่มฉีดในสถาบันการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ และพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ สูงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image