แกะรอย มะเร็งรักษาทุกที่ ผ่านมุมมอง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

เสียงตอบรับที่ดีต่อนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” หรือ Cancer Anywhere ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นสิ่งยืนยันว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถคลี่คลายความทุกข์ของผู้ป่วยจำนวนมากได้จริง

แม้ว่าการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในครั้งนี้ จะนำโดย “ฝ่ายการเมือง” หากแต่ในทางปฏิบัติ และการจัดการระบบ ย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “กรมการแพทย์” ในฐานะแม่งานและมือประสานสิบทิศ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ บอกเล่าถึงการเดินหน้านโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โดยเริ่มจากการฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาของโรคมะเร็งในประเทศไทย ที่มีสถิติผู้ป่วยรายใหม่ราวปีละ 1.2-1.3 แสนราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 7-8 หมื่นรายต่อปี แน่นอน ตัวเลขเหล่านี้ ส่งผลให้มะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็ง นอกเหนือจากระดับความรุนแรงของโรคแล้ว ยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ “เวลา” ที่ขวางกั้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในหลายกรณีเมื่อตรวจเจอมะเร็งแล้ว แต่กลับต้องรอคอยคิวในการรักษานานอีกหลายเดือน

Advertisement

“รอคิวผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน รอคอยคิวฉายแสงอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน สรุปแล้ว ผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโรค หรือเพราะรักษาช้ากันแน่ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของนโยบายยกระดับ ด้วยหลักการสำคัญคือ การจัดสรรคิวบนฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ บอกว่า เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับรองนายกฯ อนุทิน ในฐานะผู้ผลักดันนโยบายจากการรับฟังเสียงสะท้อน ข้อร้องเรียน และความทุกข์ของประชาชน จนนำไปสู่การสร้างรูปธรรม การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยความสนใจเรื่องมะเร็ง นายอนุทิน ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อย่างละเอียดจนทราบปัญหาแรกคือ ประเทศไทยยังมี “เครื่องฉายแสง” ไม่เพียงพอ นั่นทำให้ได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องฉายแสงพร้อมกันทีเดียว 7 เครื่อง จัดสรรเพิ่มให้ครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ การตัดสินใจดังกล่าว ช่วยลดอุปสรรคเรื่องเครื่องมือ นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

“ปกติเครื่องฉายแสงมีราคาตั้งแต่เครื่องละ 100-200 ล้านบาท ในปีหนึ่ง ทั่วประเทศก็สามารถซื้อได้เพียง 3-4 เครื่องเท่านั้น และหากเขตสุขภาพใดซื้อเครื่องนี้มาสักเครื่องแล้ว งบที่จะเหลือจัดสรรไปทำอย่างอื่นก็แทบไม่ได้ ดังนั้น การผลักดันของรองนายกฯ ช่วยแก้ปัญหานี้อย่างตรงจุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้น” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

ถัดจากการปลดล็อกอุปกรณ์ ก็เข้ามาสู่เรื่องของการประสาน และจัดสรรคิวระหว่างโรงพยาบาล ซึ่ง กรมการแพทย์ได้พัฒนาแพลทฟอร์ม “The One” ใช้สำหรับตรวจสอบคิวการตรวจวินิจฉัยด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในแต่ละโรงพยาบาลว่าเป็นอย่างไร

“ช่วงแรก เราเริ่มด้วยการจับคู่ระหว่างโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี กับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งจากที่ รพ.ราชวิถี เคยมีคิวคนไข้มาก อย่างการตรวจแมมโมแกรมมีคิวยาวเป็นเดือน แต่พอได้จับคู่กันแล้ว ก็ไม่เหลือคิวอีก พอเข้ามานัดแล้ว อีกวันก็ทำได้เลย” นพ.สมศักดิ์ เล่า

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สำหรับการให้บริการ กรมการแพทย์ได้ตระเตรียมความพร้อมด้วยการจัดอบรม “ผู้ประสานงานด้านมะเร็งประจำโรงพยาบาล” หรือ “Cancer Coordinator” ในช่วง 1-2 เดือน ก่อนเริ่มต้นนโยบาย มีผู้เข้ารับการอบรมแล้ว 3 รุ่น จำนวนราว 400-500 คน ผู้ประสานงานเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการจัดคิวและตอบคำถามให้กับผู้ป่วย ประจำอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนฟากฝั่งของผู้ป่วยเอง ก็มีแอพพลิเคชั่น “Cancer Anywhere” ให้ใช้เป็นเสมือนใบนำทาง แทนการใช้ “ใบส่งตัว” ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยมะเร็งจากโรงพยาบาลใด หากโรงพยาบาลนั้นไม่พร้อม ก็สามารถประสานติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และผู้ป่วยสามารถถือแอพพ์ ไปเข้ารับการรักษาได้ทันที

ขณะที่ ภาพรวมการดำเนินงานระดับประเทศ ได้เกิดการรวบรวมทะเบียนผู้ป่วยเป็นฐานข้อมูลกลางภายใต้ชื่อ “Thai Cancer Based Plus” ซึ่งขยายความร่วมมือสู่จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเมื่อรวมข้อมูลผู้ป่วยที่มากขึ้นในแต่ละปี ข้อมูลเหล่านี้ก็จะกลายไปเป็น Big Data ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

นพ.สมศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า ความสำเร็จของการจัดทำนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรากฐานที่วางไว้ในช่วงการตั้งรับกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งกรมการแพทย์ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนในลักษณะเครือข่าย นั่นทำให้นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบเข้าหากันได้ด้วย

“นโยบายมะเร็งในขณะนี้ เป็นการจับมือระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐ กับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนภาคเอกชนยังคงอยู่บนความคาดหวังที่จะสามารถเจรจาเพื่อเข้าร่วมให้บริการได้ในอนาคตต่อไป” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

แน่นอนว่า ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนนับจากที่โครงการนี้เริ่มต้น ยังอาจเร็วไปที่จะสรุปถึงผลสำเร็จที่ได้ แต่หากมองจากจำนวนผู้ป่วยราว 1.5 หมื่นราย ที่เข้าโครงการ พร้อมกับจำนวนสถานบริการอีก 238 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้าร่วม ทำให้นโยบายนี้เดินหน้า ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ มองว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีพอสมควร

ส่วนการวัดผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่า จะประเมินจากตัวเลข 3 ตัว นั่นคือ 4-6-6 ซึ่งหมายความว่า หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมะเร็ง จะต้องได้รับการรักษาภายใน 4 สัปดาห์ หากต้องรับเคมีบำบัด ต้องได้รับภายใน 6 สัปดาห์ เช่นเดียวกับรังสีรักษา ที่ต้องได้รับภายใน 6 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน ตัวเลข 4-4-6 คือการวัดผลสัมฤทธิ์ หากแต่เป้าหมายที่อธิบดีกรมการแพทย์ท้าทายตัวเอง คือ จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การลดตัวเลขเหล่านั้นให้เหลือเป็น 2-4-4 ให้ได้ นั่นหมายถึงคุณภาพในการรักษามะเร็งที่จะดีมากขึ้น จากการได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการครอบคลุมไปยังสิทธิประกันสังคม ที่จะเพิ่มการเข้าถึงของกลุ่มประชาชนอีกจำนวนหนึ่งได้มากขึ้นด้วย

“เราเริ่มเห็นถึงโจทย์ที่ว่า ชีวิตคนไทยจะเป็นวีไอพีทั้งหมดได้หรือไม่ เริ่มได้รับการตอบสนองมากขึ้น ซึ่งความฝันต่อไปที่เราอยากเห็นคือ การขยายเครือข่ายความร่วมมือเหล่านี้ไปสู่ทุกโรค หรือการแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ ที่หากต้องนอนโรงพยาบาล ก็ต้องได้นอน เพราะทุกวันนี้ ยังไม่ใช่ โดยการหาจุดสมดุลในเกณฑ์การจ่าย แทนที่โรงพยาบาลเอกชนจะเตียงว่าง ก็สามารถได้เงินจากเตียงนั้น วิน-วินทุกฝ่าย” นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image