‘อนุทิน’ เร่งเครื่องกัญชา ขยายผลปลูกบ้านละ 6 ต้น ครอบคลุมทั้งปท.ภายในปี 64

แฟ้มภาพ
‘อนุทิน’ เร่งเครื่องกัญชา ขยายผลปลูกบ้านละ 6 ต้น ครอบคลุมทั้งปท.ภายในปี 64

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และที่ปรึกษาสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน ทั้งนี้ ในที่ประชุมดังกล่าว นายอนุทินได้มอบนโยบายให้ขับเคลื่อนกัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเน้นย้ำเป้าหมายทางการแพทย์ที่ต้องควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ

ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนให้ความสนใจในการปลูกกัญชา 6 ต้น กันมาก เนื่องจากเล็งเห็นถึงความต้องการของตลาด ซึ่งสถาบันกัญชาฯ และหน่วยงานต่างๆ ใน สธ.ได้เร่งทำความเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการ ว่า เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และต้องปลูกโดยมีวัตถุประสงค์หลักทางการแพทย์

“โดยขณะนี้ สถาบันกัญชาฯ ได้จัดทำข้อเสนอให้แต่ละเขตสุขภาพ เข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้และการปลูก เพราะรองนายกฯได้กำชับว่า การดำเนินงานกัญชา กัญชง ต้องทำให้ตลาดเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น ต้องทำให้รัดกุม รอบคอบ และดูตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยการประชุมวันนี้ได้มอบให้แต่ละเขตสุขภาพดูเรื่องความต้องการทางการแพทย์ว่า มีผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเหมาะสมที่จะใช้กัญชา และจะใช้ในรูปแบบใด เพื่อให้เกิดการผลิตยาที่มีประสิทธิภาพ พอเพียงกับความต้องการ และให้เกษตรกรได้ใช้ส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดเพื่อสร้างรายได้และดูแลสุขภาพตนเอง” ภก.อนันต์ชัยกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ภก.อนันต์ชัยกล่าวว่า ยกตัวอย่าง เขตสุขภาพที่ 9 มีแนวคิดจะให้เกษตรกรปลูกกัญชาเพื่อนำรากมาทำยา เพราะเป็นความรู้พื้นบ้าน และก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่า รากมีสารต้านการอักเสบ ส่วนของใบ ให้เกษตรกรนำไปใช้ และปักหมุดส่งเสริมการใช้ยาสารสกัดกัญชาในผู้ป่วยประคับประคอง ส่วนใน เขตสุขภาพที่ 8 จัดทำระบบการบริหารจัดการกัญชาทางการแพทย์ครบวงจร ตั้งแต่การจัดทำธนาคารต้นกล้า/เมล็ดพันธุ์ การผลิตเพื่อส่งเสริมการใช้ยากัญชาแผนไทย

“การดำเนินงานเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะในแต่ละเขตสุขภาพสามารถกำหนดได้ตามบริบทสุขภาพ และความรู้ที่ท้องถิ่นหรือภูมิปัญหาในพื้นที่มี ซึ่งนอกจากตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่มีต่างกันแล้ว ยังจะทำให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในระบบสุขภาพด้วย” ที่ปรึกษาสถาบันกัญชาฯ กล่าว

ภก.อนันต์ชัยกล่าวว่า สถาบันกัญชาฯ ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกระดับ โดยพยายามแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และหวังว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถดำเนินงานได้คล่องตัวขึ้น แต่เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเกษตรกร มีทุนและโอกาสสร้างตลาดน้อยกว่า สถาบันกัญชาฯจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และจัดทำโครงการ 6 ต้น เพื่อให้เกษตรกรเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตยาที่มีคุณภาพ และยังอาจสร้างโอกาสในการมีผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองได้

“ขอยืนยันว่าการดำเนินนโยบายนี้ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะสร้างทางให้คนไทยเดินไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนด้านสุขภาพคู่กับเศรษฐกิจ โดยจะขยายผลให้ถึงครอบครัวทั้งประเทศภายในปี 2564” ภก.อนันต์ชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image