รมว.สุชาติ สั่งบอร์ดอุทธรณ์หาแนวทางรักษาสถานะภาพผู้ประกันตน ม.39 กรณีสิ้นสภาพ

รมว.สุชาติ สั่งบอร์ดอุทธรณ์หาแนวทางรักษาสถานะภาพผู้ประกันตน ม.39 กรณีสิ้นสภาพ

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา หลายแห่งทั่วประเทศ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการอุทธรณ์ให้พิจารณากรณีที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว และต่อมาบางรายประสบปัญหาสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่ง หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และ สปส.แต่ละแห่ง ไม่สามารถวินิจฉัยเองได้ จึงได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาหาข้อยุติ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้มีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือผู้ประกันตนในกรณีดังกล่าว เพื่อมิให้ต้องสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน จึงได้กำชับให้ คณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมี นายอาทิตย์ อิสโม เป็นประธาน เร่งพิจารณาถึงเรื่องนี้ เพื่อเสนอแนะไปยัง สปส.ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระเบียบของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางระบบงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแรงงาน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จะให้ความเห็นต่อ สปส.

“สำหรับขั้นตอนการยื่นคำร้อง เพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ซึ่งจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องพ้นสภาพจากสถานะความเป็นผู้ประกันตน โดยนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใด ที่ไม่พอใจในคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว จากนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาวินิจฉัย แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ แต่หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายอาทิตย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ให้อนุกรรมการวิชาการไปพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงแนวทาง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนกรณีขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการอุทธรณ์ในครั้งนี้ จะเป็นที่มาและข้อเสนอแนะยัง สปส.ในการกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image