สธ.ลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน เริ่ม 1 เม.ย. ยกเว้นมาจาก ปท.แถบแอฟริกาใต้

สธ.ลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน เริ่ม 1 เม.ย. ยกเว้นมาจาก ปท.แถบแอฟริกาใต้ ยันแค่ 2 ราย อาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงวิเคราะห์สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก และความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก เป็นรายใหม่ 622,386 ราย สะสม 126.05 ล้านราย ซึ่งจะสังเกตได้ว่าระยะหลังจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบราซิล มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในวันนี้ จำนวน 97,586 ราย รวมถึงหลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ตุรกี เยอรมนี สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ พบรายใหม่ 9,773 ราย มาเลเซีย 1,360 ราย เมียนมา 23 ราย เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไม่เอื้อในการควบคุมหรือรายงานผู้ป่วย แต่ยังคงต้องจับตาอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีให้คุมเข้มชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ป้องกันการเกิดปัญหาให้ประเทศไทย

นพ.โอภาส กล่าว สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 134 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อจากระบบบริการ 41 ราย การคัดกรองเชิงรุก 87 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศเข้าพักในสถานกักกันโรคอีก 6 ราย การระบาดรอบใหม่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยติดเชื้อจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ฉะนั้นการค้นหาเชิงรุก การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค

“ขณะนี้เหลือผู้ที่ยังรักษาอยู่ 1,453 ราย เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) 1,040 ราย รพ.สนาม 413 ราย เนื่องจากระบบในโรงพยาบาลรองรับได้ จึงทยอยปิด รพ.สนาม ตามลำดับ สถานการณ์ในบ้านเรายังสามารถควบคุมได้ แต่ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เวลาระยะห่างและล้างมือเสมอ” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ข้อมูลวันนี้ (26 มีนาคม 2564) วัคซีนซิโนแวค กระจายไปจำนวน 190,720 โดส ใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นไปตามแผนสามารถกระจายได้อย่างครบถ้วน ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 54,980 โดส ในกรุงเทพมหานคร 9,180 โดส นนทบุรี 5,200 โดส ปทุมธานี 5,000 โดส สมุทรปราการ 5,000 โดส

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า จำนวนการได้รับวัคซีนสะสมของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 25 มีนาคม รวม 136,190 โดส แยกเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 121,392 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 14,798 ราย ในจำนวนนี้มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 2 ราย ว่า แพ้วัคซีน

รายที่ 1 เพศหญิง 26 ปี จ.สมุทรสาคร มีประวัติแพ้กุ้งและแพ้ไรฝุ่น หลังฉีดวัคซีนประมาณ 10 นาที มีผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีดและศีรษะ แดงร้อนบริเวณหูและใบหน้า หูและตามบวมเล็กน้อย ต่อมามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และพักสังเกตอาการที่ห้องฉุกเฉินประมาณ 4 ชั่วโมงอาการดีขึ้น กลับบ้านได้

รายที่ 2 เพศหญิง 30 ปี จ.ราชบุรี ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัว และประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร หลังฉีด 30 นาที มีผื่นนูนแดงขึ้นบริเวณคอ หลัง แขน หน้าอก คันทั้งตัว รู้สึกว่าหน้าบวม คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่น หน้าอก หายใจเหนื่อย ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ รับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน อาการดีขึ้น กลับบ้านได้

นพ.โอภาส กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลาย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ว่า จะมีการลดวันกักตัวทั้งคนไทยและต่างชาติจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้

“โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าเป็นคนต่างชาติ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อนว่าไม่พบโควิด-19 (COVID-Free Certificate) แต่คนไทยไม่ต้องตรวจก่อน โดยไปตรวจในสถานที่กักกัน นอกจากนี้ จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ต้นทางที่มีคนเดินทางเข้ามา เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้น ถ้าสายพันธุ์ใดแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพป้องกันโดยวัคซีนลดลง และเป็นรุนแรงมากขึ้น ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่ให้ความสนใจ ขณะนี้ เป็นที่ยอมรับว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อาจจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ในการประกาศลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน จะมีข้อยกเว้นประเทศต้นทางของผู้เดินทางทุกสัญชาติ ถ้าภายใน 14 วัน เดินทางมาจากประเทศที่มีข้อมูลระบาดวิทยาว่ามีสายพันธุ์นี้ระบาดอยู่ หรือมีปัจจัยอื่นที่จะเชื่อได้ว่าจะทำให้ระบบป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้น จะกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต้นทางนั้นเป็นเวลา 14 วัน” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ยกตัวอย่าง เช่น 10 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่ 1.สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ 2.สาธารณรัฐซิมบับเว 3.สาธารณรัฐโมซัมบิก 4.สาธารณรัฐบอตสวานา 5.สาธารณรัฐแซมเบีย 6.สาธารณรัฐเคนยา 7.สาธารณรัฐรวันดา 8.สาธารณรัฐแคมารูน 9.สาธารณรัฐประชาธิไปตยคองโก 10.สาธารณรัฐกานา ทั้งนี้ ประเทศที่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์นี้ในสถานที่กักกันในประเทศไทย คือ สาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐโมซัมบิก

“ประเทศเหล่านี้เป็นต้น หลังวันที่ 1 เมษายน ยังคงมีการกักตัว 14 วัน เท่าเดิม และข้อมูลนี้จะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประกาศในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค โดยจะมีการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน        (อัพเดต) ทุก 2 สัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image