แพทย์ชี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ก็ติดเชื้อได้ เผยผลโพลสวมหน้ากากน้อยลง

แพทย์ชี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ก็ติดเชื้อได้ เผยผลโพลสวมหน้ากากน้อยลง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำการฉีดให้ประชาชนแล้ว 150,107 โดส แบ่งเป็น ผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 130,187 ราย และผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 อีก 19,920 ราย ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค

“ภาพรวมการให้บริการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนรอบแรก 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดฉีดแล้วครบ 100% ดังนั้น กราฟแสดงจำนวนผู้ได้รับวัคซีน ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน จำนวน 2 ราย มีอาการผื่นแดง ความดันต่ำแต่ได้รับการรักษาหายดีแล้ว ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ฉะนั้น วัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีความปลอดภัยสูง ไม่มีผู้แพ้รุนแรงหรือเสียชีวิต” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า กรณีหญิงไทย อายุ 29 ปี อาชีพขายอาหารทะเลที่ตลาดกิตติ เขตบางแค ซึ่งผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แต่รายนี้ได้รับวัคซีนแล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด จากประวัติการสอบสวนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี และโรงพยาบาล (รพ.) ราชบุรี พบว่า ช่วงก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยขายของในตลาดดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม เคยตรวจหาเชื้อ แต่ไม่พบเชื้อ และช่วงที่ตลาดปิดหยุดขายของ จึงได้พักอยู่ที่บ้านเป็นหลัก และเมื่อได้รับแจ้งว่าในพื้นที่มีการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผู้ป่วยจึงไปฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หลังฉีดวัคซีน 2 วัน สสจ.ราชบุรี ได้สอบสวนและตรวจพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยรายดังกล่าว จึงให้เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ จ.ราชบุรี ในระหว่างนั้น มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผลตรวจพบเชื้อ แต่จากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ระบุว่าเชื้อมีปริมาณน้อยและไม่มีอาการป่วย

“เมื่อสอบทานระยะเวลาแล้ว คาดว่าน่าจะได้รับเชื้อก่อนฉีดวัคซีนในวันที่ 18 มีนาคม เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ก่อนหน้านั้น ขณะขายของก็อยู่ในพื้นที่ระบาด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้มีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่หากรับเชื้อมาก่อนก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิค ที่ให้ข้อมูลว่า วัคซีนที่ดีที่สุด ฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อ รองลงมาคือ วัคซีนสามารถติดเชื้อได้ แต่ไม่เกิดอาการป่วย และรองลงมาอีก คือ ฉีดแล้วเกิดอาการน้อย ไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้ ฉีดแล้วก็ติดเชื้อได้ มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ในทุกตัว” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

นพ.โสภณกล่าวว่า ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจได้รับเชื้อมาก่อนหรือ หลังได้รับวัคซีน เมื่อตรวจพบเชื้อก็มีโอกาสแพร่สู่ผู้อื่นได้ แต่ส่วนใหญ่หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วก็ต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูง สู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงระหว่างวันที่ 9-22 มีนาคม พบว่า

1.คำถามว่า หากท่านมีอาการไข้ มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ท่านจะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ จากเดิมที่เคยสูงถึงร้อยละ 95 ลดลงเหลือ ร้อยละ 84.6 จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก

Advertisement

2.หากท่านไม่มีอาการป่วย ท่านจะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ลดลงต่ำเหลือเพียง ร้อยละ 74.5 ดังนั้น ต้องเน้นย้ำประชาชนว่า สถานการณ์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อและยังมีการระบาดในบางพื้นที่ เรายังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ถึง 100% อยู่ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำรวจการสวมหน้ากากอนามัยของคนไทย พบว่า เปอร์เซ็นต์ผู้สวมหน้ากากอนามัยถูกต้องลดลงเหลือ ร้อยละ 94.36 ส่วนผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยก็เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 2.51

“โดยหลายเขตที่สวมหน้ากากอนามัยน้อยกว่าร้อยละ 90 เช่น ยานนาวา บางคอแหลม คลองสาน สาทร จอมทอง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 โดยภาพรวม พบว่า สถานการณ์ในหลายเขตมีความน่าเป็นห่วง ดังนั้น ช่วงใกล้วันหยุดยาว ก็ขอให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยต้องสวมให้ครอบปากและจมูก เพื่อป้องกันการรับและแพร่กระจายเชื้อ” นพ.โสภณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image