พม.ผุดสมุดพกครอบครัว ตั้งเป้าคนไทยไร้จน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

พม.ผุดสมุดพกครอบครัว ตั้งเป้าคนไทยไร้จน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางระดับพื้นที่ให้กับผู้บริหารกระทรวง พม.ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ว่า ตามที่ข้อมูลสำรวจของกระทรวง พม. พบประเทศไทยมีครัวเรือนเปราะบาง หรือครัวเรือนยากจน จำนวน 4.1 ล้านครัวเรือน ทำให้เกิดการเอ็มโอยูกับ 12 กระทรวง และ 1 หน่วยงานคือ กรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง

และนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น คณะกรรมการ คจพ.เตรียมประชุมครั้งแรกในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาครอบครัวเปราะบางนั้น จะมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วนหน่วยงานที่เหลือจะร่วมแก้ปัญหา ภายใต้เป้าหมายคนจนต้องหมดจากประเทศไทย ส่วนจะตั้งเป้าใช้เวลาดำเนินการกี่ปีนั้น ยังไม่ทราบ แต่เราดูประเทศจีนที่ใช้เวลาแก้ไขปัญหาความยากจน 12 ปี เขามีอำนาจและทรัพยากรมากกว่า แต่ไทยก็จะพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องความแม่นยำ บริการข้อมูล เพิ่มความรวดเร็ว และประสานงาน ก็เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดความขัดแย้งไปได้เยอะ

นายจุติกล่าวอีกว่า ในการดำเนินงาน เราจะใช้นวัตกรรมสมุดพกครอบครัว ซึ่งเป็นนวัตกรรมขจัดความยากจนของหลายประเทศ อย่างประเทศจีนได้นำมาทำมากที่สุด นวัตกรรมนี้คล้ายๆ กับการที่คนไข้มาอยู่ในห้องไอซียู แล้วมีแพทย์เฉพาะทางหรือแต่ละกระทรวงมาดูว่าจะรักษาได้อย่างไรให้คนไข้หาย จากนั้นก็ให้ยารักษาหรือมีมาตรการช่วยเหลือ โดย พล.อ.ประวิตรจะเป็นเสมือนหัวหน้าหมอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นเสมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วน พม.จะเป็นแพทย์ประจำตัวผู้ป่วย มีหน้าที่มอนิเตอร์และรายงานให้หัวหน้าแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทราบ โดยจะมีการปรับการรักษาหรือมีมาตรการช่วยเหลือให้เหมาะสม

ทั้งนี้ สมุดพกครอบครัวจะทำเป็นเล่มเก็บไว้ให้แต่ละบ้าน และทำเป็นสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่แต่ละกระทรวงสามารถมอนิเตอร์ได้ เพื่อจะรู้ว่าต้องทำหน้าที่อะไร โดยสมุดนี้จะประเด็นจุดอ่อน จุดแข็งของครัวเรือน อาทิ เข้าถึงปัจจัย 4 อย่าง น้ำดื่มสะอาด มีเสื้อผ้าที่ใส่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการภาครัฐหรือยัง ลดละเลิกอบายมุขหรือไม่ ตลอดจนมีอาชีพหรือไม่ เมื่อรู้สภาพปัญหาทั้งหมด ก็จะนำมาสู่การวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหา และมีการติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน จนกว่าผู้ป่วยรายนี้จะออกจากห้องไอซียู อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากครัวเรือนยากจนได้เข้าถึงมาตรการรอบด้าน จะทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image