‘อนุทิน’ ยัน ไม่มี ‘ตั๋วหนู’ แต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ.

‘อนุทิน’ ยัน ไม่มี ‘ตั๋วหนู’ แต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ.

กรณีพนักงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จำนวนหนึ่ง นัดแต่งชุดดำเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา แสดงสัญลักษณ์คัดค้านการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ. ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นการเปิดทางให้อดีตนักข่าวรายหนึ่งเข้าไปนั่งเก้าอี้ดังกล่าว และมี “ตั๋วหนู” นั้น

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ.ที่ระบุว่านี่เป็นลักษณะ “ตั๋วหนู” ว่า ยืนยันว่าไม่มีตั๋วหนู

“หนูไม่ขายตั๋ว และส่วนตัวไม่ได้รู้จักกับนักข่าวคนไหนเป็นพิเศษ การสรรหาผู้บริหาร สพฉ.เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไร ให้อิสระในการแต่งตั้งคนอยู่แล้ว” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สพฉ. โดยวิธีเฉพาะเจาะจง กล่าวชี้แจงว่า กรณีมีข้อสังเกตถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สพฉ.ในช่วงเวลานี้ เนื่องจาก สพฉ.เป็นองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินประเทศ ต้องมีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมี 4 ตำแหน่ง เหลือตนเพียงคนเดียวในตำแหน่งรองเลขาธิการ สพฉ.อาจไม่สามารถครอบคลุมงานทุกส่วนได้ทันท่วงที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดรับผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อช่วยงาน

“เวลานี้ คำสั่งของปลัด สธ. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สพฉ.ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จในวันที่เท่าไร แต่ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงถือว่าไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด” นพ.ไพโรจน์กล่าว

นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 กรรมการหลายคนได้ประชุมหารือกัน มองว่างานใดองค์กรที่ยังต้องพัฒนา ก็มีเรื่องที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ได้เคยมีมติในที่ประชุม ให้ สพฉ. เน้นการพัฒนา 10 ประการ

Advertisement

นพ.ไพโรจน์กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่ กพฉ.เน้นคือการรีแบรนดิ้ง (Rebranding) สพฉ.อยากให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะองค์กรสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และทำให้ประชาชนเชื่อมั่น รวมถึงการประสานงานกับเครือข่าย โดยบุคคลที่กรรมการได้มองไว้คืออดีตผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ.ที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

“งานที่คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติ ก็เป็นบทบาท ภารกิจ และตำแหน่ง ที่ท่านได้ทำไว้อยู่แล้ว และต้องการความต่อเนื่อง และสามารถทำงานร่วมกับเลขาธิการ สพฉ.คนเดิมที่ได้รับเลือกให้เข้าไปรับตำแหน่งอีกครั้ง สำหรับความเหมาะสม อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่จะคิด ซึ่งมีกระบวนการรองรับอยู่แล้ว รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และการตรวจรายละเอียดของเอกสาร

“บุคคลดังกล่าวถือว่ามีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ เช่น จบปริญญาเอกจากต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการสร้างกระบวนการสื่อสารสาธารณะ มีประสบการณ์ในการเป็นประธานและคณะกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะของหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ เคยเป็นผู้แทนประเทศไทยไปศึกษาดูงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในวิชาด้านสื่อสารมวลชน” นพ.ไพโรจน์กล่าว

นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ให้สามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image