สธ.เตรียมเปิดจองคิววัคซีนผ่าน หมอพร้อม เริ่ม มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และ นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาดวิทยา กองระบาดวิทยา แถลงประเด็น “หมอพร้อม” การออกใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Vaccine Covid-19 Certificate) และ ระบบรายงานการฉีดวัคซีนแบบเรียลไทม์ (Real Time Dashboard)
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีลักษณะการติดเชื้อประปราย โดยจะมีวัคซีนล็อต 3 จากซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส จะเข้ามาถึงประเทศไทยประมาณวันที่ 10 เมษายน เข้าสู่การตรวจสอบและจะกระจายประมาณวันที่ 16-17 เมษายน ทั้งนี้ สธ.ได้จัดแนวทาง “สามเหลี่ยมเขยื้อนวัคซีน” เพื่อรองรับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย โดย เหลี่ยมที่ 1 เป้าหมายเชิงพื้นที่ (Area) ต้องระบุพื้นที่ฉีดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันร้อยละ 50-60 ในระดับพื้นที่ เหลี่ยมที่ 2 คือ ระบบดูแลการฉีดวัคซีน (Setting) ปัจจุบันฉีดในโรงพยาบาล (รพ.)
“คาดว่า รพ. 1 แห่ง สามารถฉีดวัคซีนได้ 500 รายต่อวัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดสต่อเดือน และจากประสบการณ์พบว่า การฉีดในโรงพยาบาลสนามก็มีความปลอดภัยเช่นกัน เราก็จะพิจารณาในส่วนนี้ รวมถึงการใช้รถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ การฉีดในห้างสรรพสินค้า ที่ต้องมีมาตรฐาน อยู่ภายใต้ระบบส่งต่อที่ดี และ เหลี่ยมที่ 3 ข้อมูล (Data) ระบบลงทะเบียน การติดตามผลข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีนด้วย รวมถึงนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มถัดไป” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงเครื่องมือในการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนว่า มีหลายช่องทาง เช่น 1.การใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ “หมอพร้อม” ซึ่งจะทำให้ประชาชนทราบสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนของตนเอง สามารถนัดวัน เวลา สถานที่เพื่อเข้ารับการฉีดได้ และการออกใบรับรองการได้รับวัคซีนดิจิทัล เพื่อใช้ในการอ้างอิงข้อมูลได้ 2.การนัดหมายผู้ป่วยตามเวชระเบียนของโรงพยาบาล 3.ประชาชนที่อยู่ในระบบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โครงการสามหมอ และ 4.ประชาชนที่ไม่ได้รับการนัดหมายจากช่องทางดังกล่าว ก็สามารถเข้าพบและขอรับวัคซีนได้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งไปตามระยะเวลาต่างๆ
ปลัด สธ.กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การใช้หมอพร้อม จะมีความพร้อมใช้เต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน ที่จะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนในขณะนี้ที่มีวัคซีนเข้ามาในปริมาณ 2 ล้านโดสแรก จะพิจารณาฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด้านหน้าป้องกันโควิด-19 บุคคลที่มีความเสี่ยงไปจนถึงบุคคลที่จำเป็นในภาวะต่างๆ
“ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมารับวัคซีน เพื่อการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศและเราจะปลอดภัย แต่ต้องควบคู่กับการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และสแกนไทยชนะ และเพื่อเข้าสู่การเปิดประเทศ วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ตามนโยบายของรัฐบาล แต่จะมีบางพื้นที่เปิดก่อน เช่น ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต อย่างภูเก็ตการจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ต้องฉีดวัคซีนประมาณ 4 แสนคน ซึ่งทยอยส่งลงไปไปแล้ว 2 แสนโดส สำหรับ 1 แสนคน และจะส่งเติมลงไปอีกจนครบ ตอนนี้พื้นที่ฉีดได้ราวๆ วันละ 6-7 พันคน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า ทั้งนี้ เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม แล้วจะมีการทำคิวอาร์โค้ดรับรองการฉีดวัคซีนครบ รวมถึงระบบรองรับวัคซีนพาสปอร์ต ที่จะกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก
ด้าน นพ.พงศธร กล่าวว่า เราจะต้องจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลระบบสุขภาพในอนาคตสำหรับประชาชนทั้งประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ลดภาระงานให้กับบุคลากร ทั้งนี้ การเชื่อมข้อมูลแบบเรียล ไทม์ รพ.ต่างๆ ทั่วประเทศมาที่ศูนย์เทคโนโลยีภายใน สธ.โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงหน่วยบริการระดับตำบลเข้ามาที่ สธ.ด้วย จากนั้นจะเชื่อมข้อมูลไปที่แดสท์บอร์ด (dashboard) เพื่อให้เห็นผลการฉีดวัคซีนแบบเรียลไทม์ จากนั้นจะมีการรายงานข้อมูลนี้กลับไปให้ประชาชนที่เป็นเพื่อนกับหมอพร้อม
นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า สำหรับการออกใบรับรองการฉีดวัคซีน จะมีทั้งรูปแบบกระดาษ ออกโดย รพ.ที่ฉีดวัคซีนให้ ส่วนในไลน์หมอพร้อม และแอพพ์ฯ ก็จะได้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคิวอาร์ โค้ด ที่มีข้อมูลเชื่อมกับระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ สามารถตรวจสอบได้ ซึ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ประชาชนแล้ว 35,000 คน อนาคตหากประเทศใดต้องการให้การรับรองตรวจหาภูมิคุ้มกันก่อนเข้าประเทศ ประชาชนก็ไปขอรับการตรวจได้ที่แล็บที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีอยู่ 200 กว่าแห่ง จากนั้นข้อมูลจะถูกบันทึกและส่งเข้าระบบข้อมูลไลน์ และแอพพ์ฯ หมอพร้อม ด้วยเช่นกันเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล และกำลังรอข้อมูลองค์การอนามัยโลกเพื่อเชื่อมข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมที่จะเปิดประเทศ เปิดเกาะให้คนไทยใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ด้าน นพ.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า เมื่อประชาชนไปฉีดวัคซีนที่ รพ.ใกล้บ้าน ซึ่ง รพ.จะบันทึกข้อมูล และตัวเลขจะเข้ามาที่ศูนย์ข้อมูล ซึ่งจะมีการอัพเดทขึ้นแผนภูมิให้ดูว่าจังหวัดแต่ละจังหวัดมีการฉีดไปมากน้อยอย่างไร แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 โดยขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 1 แสนโดส โดยเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วกว่า 2 หมื่นกว่าคน ซึ่งแดสท์บอร์ด จะแสดงข้อมูลทั้งหมดรวมถึงผลข้างเคียงที่มีรายงานเข้ามา ทั้งนี้ เมื่อบันทึกผลข้างเคียง จะมีข้อมูลเข้ามาเช่นกัน ดังนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะเราติดตามผลข้างเคียงตลอด เพื่อให้ทีมเข้าไปช่วยเหลือหรือดูแลอย่างทันท่วงที